บทบาทของกรดแอบไซซิคและแจสโมเนตในการต่อต้านสภาพเครียดจากน้ำในมะม่วง
ดุลชาติ มานะคงตรีชีพ
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 81 หน้า. 2550
2550
บทคัดย่อ
การศึกษาการตอบสนองของมะม่วงต่อสภาพขาดน้ำในต้นมะม่วงพันธุ์แก้ว และการเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (60 %) พบว่า สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียดส่งผลต่อการเพิ่มของปริมาณกรด Abscisic กรด Jasmonic Methyljasmonates และสารประกอบฟีนอลทั้งหมดในมะม่วง การใช้ Uniconazole ความเข้มข้น 250 ppm ทั้งในการรดต้นและจุ่มผลมะม่วงส่งผลให้มะม่วงมีปริมาณกรด Abscisic เพิ่มขึ้น แต่ส่งผลให้ปริมาณ Jasmonates ลดลง การใช้กรด 5-aminolaevulinic (ALA) ความเข้มข้น 250 ppm ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มต้นมะม่วงมีผลต่อการเพิ่มปริมาณของกรด Abscisic กรด Jasmonic และ Methyljasmonates และเป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ ALA ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณกรด Abscisic กรด Jasmonic และ ethyljasmonates ในใบชัดเจนมากกว่าในส่วนอื่นๆ ของต้น การเพิ่มขึ้นของปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดสัมพันธ์กับการลดลงของปริมาณกรด Abscisic ในส่วนของใบ ท่อลำเลียง และราก สำหรับการทดลองการเก็บรักษาผลมะม่วงในชุดการทดลองควบคุมพบว่า หลังจากทำการเก็บรักษามะม่วงเป็นเวลา 3 วัน ในเปลือกและเนื้อผลมะม่วงมีปริมาณกรด Jasmonic และ Methyljasmonates เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนสีของมะม่วง โดยมะม่วงที่เก็บรักษาที่ความชื้นสัมพัทธ์สูงมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณกรด Abscisic เพียงเล็กน้อย ในขณะที่มะม่วงที่เก็บรักษาที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมีปริมาณกรด Abscisic เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้การใช้ Uniconazole ลดการสร้างสารประกอบฟีนอลในเปลือกอย่างชัดเจน แต่ไม่ส่งผลต่อปริมาณสารฟีนอลในเนื้อผลมะม่วง