ผลของสารเคลือบ Sucrose fatty acid ester และ Methyl cellulose และการเก็บรักษาในถุง Polyethylene ต่อการเกิดสีน้ำตาลของลำไยพันธุ์ดอ
สถาพร ผมรี
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 111 หน้า. 2550.
2550
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของสารเคลือบผิว sucrose fatty acid ester และ methyl cellulose ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ ต่อการเกิดสีน้ำตาลของผลลำไยพันธุ์ดอ เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90 พบว่าการใช้สารเคลือบผิว sucrose fatty acid ester ความเข้มข้นร้อยละ 0.7 และการใช้สาร methyl cellulose ความเข้มข้นร้อยละ 1.0 สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีของเปลือก ลดการสูญเสียน้ำได้ และชะลอการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลได้ดี เนื่องจากการเคลือบผิวสามารถลดการซึมผ่านของน้ำและอากาศได้ดีกว่าผลที่ไม่ได้เคลือบ ส่วนการใช้สารเคลือบผิว sucrose fatty acid ester ความเข้มข้นร้อยละ 0.7 ร่วมกับการบรรจุในถุง polyethylene (PE) เจาะรูจำนวน 2 4 และ 6 รู เปรียบเทียบกับการไม่บรรจุในถุง PE พบว่าการเก็บรักษาลำไยไว้ในถุง PE เจาะรูจำนวน 2 รูสามารถลดการสูญเสียน้ำหนักได้ดี ชะลอการเปลี่ยนแปลงสีของเปลือก อัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน และชะลอการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกได้ดีอาจเป็นเพราะถุงที่เจาะรูน้อยกว่ามีการซึมผ่านของก๊าซและไอน้ำน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการใช้สารเคลือบผิว sucrose fatty acid ester methyl cellulose และการบรรจุในถุง PE เจาะรู ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อ ปริมาณกรดที่ไตรเตรทได้ และปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้การเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลลำไยมีความสัมพันธ์กับ relative water content มากกว่าสารประกอบฟีนอลและกิจกรรมเอนไซม์ polyphenol oxidase (PPO)