บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์รมลำไยสดเพื่อการส่งออก

บุษรา จันทร์แก้วมณี เกรียงไกร สุภโตษะ รุ่งทิวา รอดจันทร์ และอุมาภรณ์ สุจริตทวีสุข

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 383-386.

2550

บทคัดย่อ

การศึกษาการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์รมลำไยสดเพื่อการส่งออก

การส่งออกลำไยสดของประเทศไทย นิยมใช้วิธีการรมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษา กรมวิชาการเกษตร จึงได้มีการกำหนด หลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีของโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และให้การรับรอง (Q-mark) กับโรงรมที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการส่งออก ผลการตรวจสอบและให้การรับรองโรงรมตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 80 โรงรม ได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร 54 โรงรม อยู่ในเขตภาคเหนือ  46 โรงรม ซึ่งอยู่ใน จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน จังหวัดละ 23 โรงรม สำหรับภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดจันทบุรีได้การรับรอง 8 โรงรม จากการศึกษาการสลายตัวของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยสด โดยใช้ลำไยพันธุ์อีดอ บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่มีขนาด 3 และ 11 กิโลกรัม ลำไยที่ใช้  9,243 กิโลกรัม รมในห้องรมขนาด 60 ลูกบาศก์เมตร และใช้ กำมะถันหนัก 4.2 กิโลกรัม หลังจากการรมแล้วเก็บรักษาลำไยในห้องควบคุมอุณหภูมิ 2-5oCและทำการวิเคราะห์ผลตกค้างทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 20 วัน ผลการวิเคราะห์ ปริมาณความเข้มข้นของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยตลอด 20 วัน พบว่า ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับผลตกค้างที่เปลือก พบสูงสุด 2,612.29 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และต่ำสุด 920.92 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในวันที่ 1 และ 19 หลังการรมตามลำดับ