บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคผักอนามัย

วไลลักษณ์ กิตติสุนทรอรุณ

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2547. 166หน้า.

2547

บทคัดย่อ

ปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคผักอนามัย

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคผักทั่วไปและผักอนามัย  และศักยภาพการตลาดของผักอนามัย โดยใช้วิธี conjoint analysis และการวิเคราะห์ตลาดจำลอง (market simulation)โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือนผู้บริโภคในเขตเมืองของ 4อำเภอตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 400 ตัวอย่าง

ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนผู้บริโภคส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97) บริโภคผักทั่วไปเปรียบเทียบกับร้อยละ 48 ที่บริโภคผักอนามัยโดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคา สถานที่จำหน่าย ชนิดของผักแหล่งผลิต และบรรจุภัณฑ์ ตัวแปรคุณลักษณะและปัจจัยของผักจำนวน 51 ตัวแปรที่ศึกษามีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจของครัวเรือนผู้บริโภคร้อยละ 35คุณลักษณะและปัจจัยของผักที่มีผลให้ความพึงพอใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ สถานที่จำหน่ายที่เป็นตลาดสด ชนิดของผักที่เป็นผักกาดขาว ผลิตโดยโครงการหลวง การมีบรรจุภัณฑ์พร้อมเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย ส่วนราคาที่เพิ่มขึ้นมีผลให้ความพึงพอใจของผู้บริโภคผักลดลง เป็นไปตามทฤษฎีพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อครัวเรือนมีรายได้สูงขึ้นจะพึงพอใจเพิ่มขึ้นกับการซื้อผักที่มีความปลอดภัยสูงขึ้น

สำหรับการศึกษาด้านศักยภาพการตลาดผักอนามัย พบว่า ครัวเรือนผู้บริโภคตัวอย่างมีความพึงพอใจและให้ความนิยมผักอนามัย (ผักปลอดภัย และผักอินทรีย์) มากกว่าผักทั่วไปที่มีราคาใกล้เคียงกัน และแม้ว่าผักทั่วไปที่มีลักษณะเดียวกันกับผักอนามัยจะมีราคาต่ำกว่า 6-9บาท/กก. ผู้บริโภคตัวอย่างก็ยังคงมีความพึงพอใจและนิยมผักอนามัยบางคุณลักษณะสูงกว่าผักทั่วไป แสดงว่าผักอนามัยเป็นผักที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง

การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มความพึงพอใจและนิยมผักอนามัยที่เป็นผักปลอดภัย ดังนั้น การพัฒนาการผลิตและการตลาดผักอนามัยจึงควรมุ่งเน้นไปที่ผักปลอดภัย และหากสามารถพัฒนาให้มีราคาต่ำในระดับใกล้เคียงกับผักทั่วไป ตลอดจนการจัดให้มีการขายในตลาดสดได้ ก็จะสามารถขยายตลาดผักอนามัยได้