บทคัดย่องานวิจัย

การแยกเฮมิเซลลูโลสจากผลมะละกอดิบและการตรวจหาน้ำตาลองค์ประกอบ

วิรงรอง ทองดีสุนทร

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีชีวภาพ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 71 หน้า.

2548

บทคัดย่อ

การแยกเฮมิเซลลูโลสจากผลมะละกอดิบและการตรวจหาน้ำตาลองค์ประกอบ

การอบเปลือกและเนื้อมะละกอที่อุณหภูมิ 55°C ทำให้น้ำหนักแห้ง 8.84 และ 8.58% ตามลำดับ ในเปลือกและเนื้อมะละกอแห้งมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่ากับ 83.43 และ 84.37%โดยน้ำหนัก ตามลำดับ การสกัดเฮมิเซลลูโลสจากเปลือกและเนื้อมะละกอแห้งด้วย 1และ 4M KOH ให้ผลผลิตทั้งหมดเท่ากับ 17.27และ 16.72% (โดยน้ำหนัก) ตามลำดับ ในขณะที่เปลือกและเนื้อมะละกอแห้งที่ผ่านการสกัดเพกตินออกด้วย 0.05M HCl ให้ผลผลิตเฮมิเซลลูโลส เพียง 2.44 และ 2.42% โดยน้ำหนัก ตามลำดับ เฮมิเซลลูโลสจากเปลือกและเนื้อมะละกอทุกตัวอย่างมีความชื้นอยู่ในช่วง 8.5-15%โดยน้ำหนัก การฟอกสีเปลือกมะละกอด้วยโซเดียมคลอไรด์ช่วยเพิ่มความขาวให้เฮมิเซลลูโลส FT-IR สเปกตรัมแสดงให้เห็นว่าการสกัดเฮมิเซลลูโลสจากเปลือกและเนื้อมะละกอแห้งด้วย 4M KOHทำให้เกิดการสลายพันธะเอสเทอร์ในโมเลกุลเฮมิเซลลูโลส และการฟอกสีเปลือกมะละกอด้วยโซเดียมคลอไรด์มีผลทำให้ลิกนินถูกกำจัดออกไปด้วย

เฮมิเซลลูโลสจากเปลือกมะละกอประกอบด้วย กาแล็กโทส กลูโคส ไซโลส แรมโนส อะราบิโนส และกรดยูโรนิก ร้อยละ 25.36, 9.88, 5.34, 0.661, 2.31 และ 7.76 ตามลำดับ ในขณะที่เฮมิเซลลูโลสในเนื้อมะละกอมีส่วนประกอบของ กาแล็กโทส กลูโคส ไซโลส อะราบิโนส และกรดยูโรนิก ร้อยละ 23.84, 22.30, 20.00, 14.22, และ 7.29 ตามลำดับ การสกัดเพกตินออกจากเปลือกและเนื้อมะละกอก่อนการสกัดเฮมิเซลลูโลสทำให้ได้เฮมิเซลลูโลสที่มีกาแล็กโทสลดลงร้อยละ 13.20 และ 16.49 ตามลำดับ ซึ่งลดลงมากกว่าส่วนประกอบของไซโลสและอาราบิโนส ในทางตรงข้ามเฮมิเซลลูโลสจากเปลือกและเนื้อที่สกัดเพกตินออกก่อนมีส่วนประกอบของกลูโคสเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.72 และ 2.01 ตามลำดับ