บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาวิธีการหาปริมาณแคปไซซินในพริกด้วยแสงเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี

ศุมาพร เกษมสำราญ ณัฐญา มานะกิจ วารุณี ธนะแพสย์ และสัญญา หกพุดซา

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3(พิเศษ). หน้า 609-612. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การพัฒนาวิธีการหาปริมาณแคปไซซินในพริกด้วยแสงเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี

การศึกษานี้ได้นำแสงเนียร์อินฟราเรดมาใช้วิเคราะห์หาปริมาณแคปไซซินในพริก โดยรวบรวมพริก 17 ชนิด นำมาเตรียมเป็นพริกแห้งป่นก่อนนำมาวิเคราะห์ด้วยแสงเนียร์อินฟราเรดและไฮเพอร์ฟอแมนลิควิดโครมาโตกราฟีตามลำดับ ตัวอย่างพริกแห้งป่นจะนำมาสแกนด้วยแสงเนียร์อินฟราเรดในช่วงความยาวคลื่น 1100-2500 นาโนเมตร นำข้อมูลสเปกตราแสงเนียร์อินฟราเรด และข้อมูลปริมาณแคปไซซินที่วิเคราะห์ด้วยวิธีไฮเพอร์ฟอแมนลิควิดโครมาโตกราฟีมาคำนวณสร้างสมการมาตรฐาน เพื่อใช้ทำนายปริมาณแคปไซซิน โดยทำการคัดเลือกสมการที่ดีที่สุดจากการเปรียบเทียบสมการมาตรฐานที่ใช้วิธีการปรับแต่งข้อมูลสเปกตรัมแสงเนียร์อินฟราเรด และช่วงความยาวคลื่นแตกต่างกัน ผลสำเร็จของการศึกษานั้นจะได้สมการมาตรฐานสำหรับทำนายปริมาณแคปไซซินที่มีประสิทธิภาพสูง ค่าสหสัมพันธ์เป็น 0.9922 มีค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ยของความผิดพลาดต่ำเป็น 0.0127%สมการที่ได้สร้างจากสเปกตราแสงเนียร์อินฟราเรดดิบ ใช้ทั้งช่วงความยาวคลื่น ด้วยแฟกเตอร์ 10 จากผลสำเร็จของการสร้างสมการมาตรฐานของแคปไซซินจึงได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสร้างสมการมาตรฐานสำหรับทำนายปริมาณนอนไดไฮโดรแคปไซซิน ไดไฮโดรแคปไซซิน แคปไซซินอยด์ทั้งหมด และค่าปริมาณความเผ็ดร้อน ซึ่งสามารถทำนายปริมาณสารทั้งหมดได้ในคราวเดียวกัน และรายงานผลทั้งหมดเอาไว้ จากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า วิธีการใช้แสงเนียร์อินฟราเรด เพื่อวิเคราะห์ปริมาณแคปไซซินแต่ละชนิด แคปไซซินอยด์ทั้งหมด และปริมาณความเผ็ดร้อนสามารถพัฒนาได้ประสบผลสำเร็จ และมีแนวโน้มที่จะใช้ทดแทนวิธีวิเคราะห์ไฮเพอร์ฟอแมนลิควิดโครมาโตกราฟีเดิมที่ยุ่งยากอีกด้วย