บทคัดย่องานวิจัย

การอบแห้งลำไยแบบไม่ต่อเนื่องโดยวิธีเป่าด้วยอากาศแวดล้อม

ฤภพ ยิ้มพงษ์

วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วิศวกรรมพลังงาน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 137 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

การอบแห้งลำไยแบบไม่ต่อเนื่องโดยวิธีเป่าด้วยอากาศแวดล้อม

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาการอบแห้งของการอบแห้งลำไยทั้งลูกแบบต่อเนื่อง และการอบแห้งลำไยทั้งลูกแบบไม่ต่อเนื่อง หลังจากนั้นนำผลของการทดลองมาเปรียบเทียบกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการอบแห้งลำไยด้วยลมร้อนโดยใช้แบบจำลองการอบแห้งแบบไม่สมดุล และแบบจำลองการอบแห้งแบบใกล้สมดุล

การทดลองการเปรียบเทียบระยะเวลาการอบแห้งของการอบแห้งลำไยแบบต่อเนื่องและการอบแห้งลำไยแบบไม่ต่อเนื่องโดยใช้ลำไยเกรด AAมีความเร็วลมร้อนหน้าห้องอบแห้งประมาณ 0.7 เมตรต่อวินาทีอุณหภูมิลมร้อนประมาณ 75องศาเซลเซียสมีความชื้นเริ่มต้นของลำไย 268-276% มาตรฐานแห้ง อบจนความชื้นของลำไยสุดท้ายที่ 20-25% มาตรฐานแห้ง พบว่าใช้ระยะเวลาในการอบแห้งเท่ากันคือ 36 ชั่วโมง ความชื้นสุดท้ายของลำไยแห้งมีค่าความแตกต่างกันไม่เกิน 5%แสดงว่าความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของลำไยกับอุณหภูมิอบแห้งไม่มีผลต่อการลดลงของความชื้นระหว่างการอบแห้ง ในส่วนของการเปรียบเทียบค่าความสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะ พบว่าทุกการทดลองมีค่าความสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะอยู่ในช่วง 21.5-22.5 MJ/kg-water และคุณภาพของลำไยแห้ง เปอร์เซ็นต์การบุบแตก และคุณภาพสีไม่แตกต่างกัน

ผลจากการทดลองเมื่อเขียนในรูปของสมการอบแห้ง MR = ae-bt โดยค่า a และ bเป็น 1.0498 + 0.0613และ 0.073 + 0.001 ตามลำดับ

การนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการอบ แห้งลำไยมาเปรียบเทียบกับผลการทดลองการอบแห้งลำไยแบบต่อเนื่อง และการอบแห้งลำไยแบบไม่ต่อเนื่องพบว่าแบบจำลองการอบแห้งแบบใกล้สมดุลสามารถ ทำนายผลการลดลงของความชื้นของลำไยระหว่างการอบแห้งได้ใกล้เคียงกว่าแบบจำลอง การอบแห้งแบบไม่สมดุล แต่แบบจำลองการอบแห้งแบบไม่สมดุลสามารถทำนายค่าความสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะ ได้ดีกว่า