บทคัดย่องานวิจัย

ผลของโอโซนและกรดซิตริกต่ออายุการเก็บรักษาผลลำไยพันธุ์ดอ

ประสิทธิ์ จันตัน

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(เกษตรศาสตร์) พืชสวนคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 135 หน้า.2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของโอโซนและกรดซิตริกต่ออายุการเก็บรักษาผลลำไยพันธุ์ดอ

การศึกษาผลของโอโซนและกรดซิตริกต่ออายุการเก็บรักษาผลลำไยพันธุ์ดอ ดำเนินการโดยนำผลลำไยไปแช่ในสารละลายซึ่งปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) เท่ากับ 2.0 - 3.0 3.1 - 4.0 และ 4.1 - 5.0 ด้วยกรดซิตริก เป็นเวลานาน 60, 90 และ 120 นาที เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับชุดควบคุม (ไม่แช่สารละลายกรดซิตริก) พบว่าผลลำไยที่แช่ในสารละลายกรดซิตริกมีอายุการเก็บรักษาเฉลี่ย 12.00 - 13.00 วันโดยค่าความเป็นกรดเป็นด่างในช่วง 3.1 - 4.0 สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ดีเทียบเท่ากับชุดควบคุม นำค่าความเป็นกรดเป็นด่างเท่ากับ 3.1 - 4.0 มาทำการทดลอง โดยแช่ผลลำไย เป็นเวลานาน 10, 15 และ 30 นาที เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับชุดควบคุม (ไม่แช่สารละลายกรดซิตริก) พบว่าการแช่ผลลำไย เป็นเวลานาน 10 และ 15 นาที สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน 16.33 และ 16.67 วัน ตามลำดับ โดยการแช่ผลลำไยนาน 15 นาที มีสีผิวเปลือกคล้ำลงน้อยกว่ากรรมวิธีอื่นๆ นำค่าความเป็นกรดเป็นด่าง 3.1 - 4.0 นาน 15 นาที มาทำการทดลอง โดยแช่ผลลำไยร่วมกับก๊าซโอโซน ความเข้มข้น 40, 70 และ 100 มก./ชม. เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับ ชุดควบคุม (แช่สารละลายกรดซิตริกโดยไม่ร่วมกับการรมก๊าซโอโซน) พบว่าการแช่ผลลำไยร่วมกับก๊าซโอโซน สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานเฉลี่ย 15.33 - 17.00 วัน