บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงอาการสะท้านหนาวในผลแตงกวาที่ได้รับอุณหภูมิต่ำแล้วนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง

จารุณี จูงกลาง และ ภาวิณี โกมาลย์

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9. วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2553. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์

2553

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงอาการสะท้านหนาวในผลแตงกวาที่ได้รับอุณหภูมิต่ำแล้วนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง

 

การเปลี่ยนแปลงอาการสะท้านหนาวในผลแตงกวาที่ได้รับอุณหภูมิต่ำ (6 ± 2 °C) นาน 12 วัน แล้วนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยเก็บผลมาวิเคราะห์อาการสะท้านหนาว (chilling injury), การสูญเสียน้ำหนักของผล ปริมาณ malondialdehyde (MDA; สารผลิตภัณฑ์ของ lipid peroxidation) ในส่วนของเปลือกและเนื้อ ปริมาณวิตามินซีในส่วนของเปลือกและเนื้อ และปริมาณคลอโรฟิลล์เอและบี ในส่วนของเปลือกผลแตงกวา การทดลองครั้งนี้ใช้เวลา 6 เดือน ณ ห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาความเครียดและธาตุอาหารของพืช ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการทดลองพบอาการสะท้านหนาวที่เรียกว่า surface pitting เป็นบริเวณ 76-100 เปอร์เซ็นต์ของเปลือกผล เมื่อวางผลแตงกวาที่อุณหภูมิห้องนาน 6 ชั่วโมงขึ้นไป การสูญเสียน้ำหนักของผลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อวางผลแตงกวาไว้ที่อุณหภูมิห้องนานขึ้น ปริมาณ MDA ในส่วนของเปลือกและเนื้อ และปริมาณคลอโรฟิลล์เอและบีในส่วนของเปลือก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณวิตามินซีในส่วนของเปลือกและเนื้อมีแนวโน้มลดลง เมื่อวางผลแตงกวาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานานขึ้น จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าผลแตงกวาที่ได้รับอุณหภูมิ 6 ± 2 °Cนาน 12 วัน เมื่อนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 6 ชั่วโมงขึ้นไป จะมีผลชักนำให้เกิดอาการสะท้านหนาวในผลแตงกวาเพิ่มขึ้น