การประเมินปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมดของผลมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลายแบบไม่ทำลาย ด้วยเทคนิคสเปกโทรสโกปีอินฟราเรดย่านใกล้
สุพรพรรณ ศรีมาศ พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล รณฤทธิ์ ฤทธิรณ และเกรียงศักดิ์ ไทยพงษ์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 67-70 (2554)
2554
บทคัดย่อ
มีการนำปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด(TSS) มาใช้กำหนดมาตรฐานคุณภาพการบริโภคและดัชนีการเก็บเกี่ยวที่สำคัญของมะละกอรับประทานสุก แต่พบปัญหารสชาติไม่สม่ำเสมอ การทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณ TSS ของมะละกอแบบไม่ทำลายตัวอย่าง เพื่อคัดแยกคุณภาพด้านรสชาติที่แม่นยำยิ่งขึ้น โดยระบบการวิเคราะห์ปริมาณ TSSแบบไม่ทำลาย ได้รับการพัฒนาขึ้นจากความสัมพันธ์ของค่า TSS กับการดูดกลืนพลังงานอินฟราเรดย่านใกล้ (near infrared, NIR) ด้วยเครื่องสเปกโทรมิเตอร์แบบพกพา จากนั้นสร้างสมการทำนายด้วยวิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นตรงแบบพหุ พบว่า สามารถพัฒนาสมการทำนายได้อย่างแม่นยำ 2สมการ โดยสมการแรก มีค่า R = 0.98, SEC = 0.76°Brix, SEP = 0.85°Brix และ Bias = 0.17°Brixสมการนี้สามารถนำมาใช้ทำนายปริมาณ TSSของผลมะละกอสำหรับใช้เป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวได้ สมการที่สอง มีค่า R = 0.94, SEC = 0.98°Brix, SEP = 0.90°Brix และ Bias = 0.04°Brix สมการนี้สามารถนำมาใช้ทำนายปริมาณ TSS ของผลมะละกอสำหรับใช้เป็นทั้งดัชนีการเก็บเกี่ยวและดัชนีการบริโภค