เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 51
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส แก่ข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้ เนื่องใน “วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ” เมื่อหลายปีก่อน มีใจความว่า...
“....เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะ ปลูกต้นไม้ลงในใจคน เสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ ลงบนแผ่นดิน และ รักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”
ปัจจุบันปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ยังไม่มีท่าทีจะหยุดยั้งลงได้ แม้ว่า กรมป่าไม้ ย้ายสังกัดจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอยู่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวิชัย แหลมวิไล อธิบดีกรมป่าไม้ เผยว่า ปัญหาป่าไม้ที่ถูกลักลอบตัดส่วนใหญ่จะเป็นไม้ที่มีค่า เช่น ไม้สักและไม้พะยูง เนื่องจากมี เม็ดเงินจำนวนมากสั่งซื้อมาจากตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เกิดขบวนการตัดไม้ทำลายป่าขึ้น อีกทั้งยังมีพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ดูแลป่าไม้อย่างเต็มที่
กรมป่าไม้ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการตั้งชุดปฏิบัติการป้องกัน และปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าขึ้น โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม เป็นคณะกรรมการ กอ.ร่วมฯ ขึ้นมาปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุม หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของป่าไม้พัวพันก็ดำเนินการ ย้าย ปลดออก และ ไล่ออก ตามหลักฐานที่ปรากฏทำให้สามารถหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าลงได้พอสมควร และเมื่อเร็วๆนี้ได้จัดงานสัปดาห์ วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ประจำปี 2551 ขึ้น ที่บริเวณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตำบล บางกระเจ้า อำเภอ พระประแดง จังหวัด สมุทรปราการ ตามแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางมหานคร
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจที่นี่มีการจัดตั้งป่าชุมชนขึ้น เพื่อต้องการดึงมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์พื้นที่ป่า... นายสมศักดิ์ เนติรังษีวัชรา รองอธิบดีกรมป่าไม้ เผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่สวนแห่งนี้ พร้อมกับมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ป่าแห่งนี้ไว้ กรมฯจึงดำเนิน โครงการสวนกลางมหานคร ขึ้นบริเวณบางกระเจ้า 6 ตำบล คือ ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางกอบัว ต.ทรงคนอง ต.บางกะเจ้า ต.บางกระสอบ และ ต.บางยอ ในเขต อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่
โดยมุ่งเน้นการ อนุรักษ์พันธุ์ไม้ อนุรักษ์วิถีชีวิตด้านการเกษตรกรรม และ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้บริเวณนี้เป็น พื้นที่สีเขียว ซึ่งมีลักษณะเป็น เกาะแก่งราว 560 แปลง การบริหารจัดการ และ ฟื้นฟู สภาพพื้นที่โดยจะใช้กระบวนการ ป่าชุมชน เข้ามาดำเนินการเพื่อให้ชาวชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นด้านของผู้ดูแลป่าชุมชน นายชลธิศ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวว่า ในพื้นที่แห่งนี้ เดิมทีมีสวนป่าชุมชนเกิดขึ้นแล้ว 1 แห่ง คือ สวนป่าเกดน้อมเกล้า ตั้งอยู่ที่ ต.ทรงคนอง ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีความโดดเด่นในเรื่องของพันธุ์พืชที่มีเฉพาะพื้นที่และหาดูได้ยาก เช่น ต้นลำพู ต้นจิก ต้นชำมะเลียง โกงกางพื้นเมือง ฯลฯ
อีกทั้งยังมี ระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และ น้ำกร่อย การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านว่าต้องการป่าชุมชนอีกหรือไม่ ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านก็พร้อมที่จะมอบที่ดินว่างเปล่า และให้ความร่วมมือในการจัดสร้างป่าชุมชนขึ้นอีก เนื่องจากป่าชุมชนแห่งแรกได้เติบโตขึ้นและให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างชัดเจน
ลุงบุญแถม เพชรประดิษฐ์ อายุ 61 ปี ศิลปินดีเด่นของจังหวัดสมุทรปราการในด้านการแกะสลัก บอกว่า ชาวชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนแห่งนี้จะเป็นชาวมอญ จึงมีพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้งสามารถนำผลผลิตจากป่า เช่น ต้นกล้วย กาบกล้วย ใบตอง ต้นจาก ผลจาก ใบจาก ผลมะพร้าว ใบมะพร้าว กิ่งและก้าน ฯลฯ มาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
ทั้งในด้าน การแกะสลักเป็นบายศรี เพื่อใช้ในงาน พิธีมงคล ต่างๆหรือจะนำมาทำเป็นกระทงใส่ อาหารคาว และ อาหารหวาน ก็สามารถนำไปทำได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะ ขนมจากที่เลื่องชื่อของพระประแดง
พวกเรา ชาวชุมชนป่าเกดน้อมเกล้า จึงคิดว่า ต้องช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้และรักษาป่าให้อยู่ต่อไปเพื่อให้ลูกหลานของเราได้มีกินและมีใช้ จากป่าชุมชน 3 น้ำแห่งนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=77830