หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 51
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งวัวในเมืองไทย จนได้ลูกวัวโคลนนิ่ง 30 ตัวแล้ว ทางคณะนักวิจัยได้เดินหน้าโคลนนิ่ง สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ของไทย โดยเฉพาะกระทิง เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แต่เนื่องจากการจับกระทิงพ่อแม่พันธุ์จากป่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นเปลี่ยนมาใช้การโคลนนิ่งข้ามสปีชีส์ขึ้น โดยได้เลือกวัวที่เป็นสัตว์ใกล้เคียงกับกระทิง
ดร.รังสรรค์ระบุต่อว่า การโคลนนิ่งกระทิง ได้ใช้เทคนิคการโคลนนิ่งข้ามสปีชีส์ โดยใช้เซลล์ไข่ของวัวเป็นไซโตพลาสซึมผู้รับ และใช้เซลล์ผิวหนังของกระทิงเพศเมีย และเพศผู้ชื่อ “ทอง” จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี มาเป็นต้นแบบในการสร้างตัวอ่อนของกระทิง จากนั้นย้ายฝากตัวอ่อนมาใส่ในมดลูกของแม่วัว จำนวน 10 ตัว ที่ผ่านมาแม่วัวสามารถตั้งท้องลูกกระทิงได้ สุดท้ายแท้งเกือบหมดเมื่ออายุท้องได้แค่ 3-6 เดือนเท่านั้น แต่มีตัวอ่อนของกระทิงที่ได้เซลล์ผิวหนังตัวผู้ 1 ตัว โดยแม่วัวตั้งท้องได้นานถึง 275 วัน พอผ่าทำคลอดออกมาลูกกระทิงอยู่ได้เพียง 12 ชั่วโมงก็ตาย เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำในปอดเยอะ หรืออาจผ่าตัดคลอดเร็วเกินไป เพราะเราไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่ากระทิง ใช้เวลาตั้งครรภ์เท่าไร โดยคาดเดากันว่าน่าจะอยู่ราว 270 วัน
หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ กล่าวอีกว่า จากกรณีแม่วัวดังกล่าวทำให้นักวิจัย ได้ปล่อยให้แม่วัวอีก 1 ตัวที่มีตัวอ่อนของ เซลล์กระทิงตัวเมีย ตั้งท้องต่อไปอีกเป็นเวลา 305 วัน จากนั้นตรวจอัลตราซาวน์พบว่าลูกกระทิงมีปัญหา จนเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ผ่าออกมาและลูกกระทิงตายอีกเหมือนเดิม แต่ลูกกระทิงมีอวัยวะครบสมบูรณ์ทุกส่วนแล้ว และตรวจดีเอ็นเอพบว่าลูกกระทิงโคลนนิ่งมีพันธุกรรมเหมือนกับพ่อแม่พันธุ์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม การโคลนนิ่งกระทิงครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะเป็นรายที่ 2 ของโลก ประเทศแรกคืออเมริกา โดยในปี 52 ทางนักวิจัยจะเตรียมโคลนนิ่งกระทิงชุดใหม่ โดยใช้เทคนิคเดิมกับแม่วัวจำนวน 10 ตัว โดยคราวนี้จะให้แม่วัวตั้งท้องในช่วงระยะ 290-295 วัน อีกทั้งจะนำผลงานความก้าวหน้านี้ ไปเสนอต่อที่ประชุมงานสมาคมย้ายฝากตัวอ่อนนานาชาติ ที่เมืองซานดิเอโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-6 ม.ค. 52 ด้วย
ด้านนายชัชวาลย์ พิศดำขำ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ถือเป็นข่าวน่ายินดีมากกับวงการอนุรักษ์ เนื่องจากกระทิงในธรรมชาติ ขณะนี้เหลือเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ แถวเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง อย่างไรก็ตามในส่วนของการส่งเสริมสัตว์ป่า ที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ 59 ชนิดนั้น ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯได้เตรียมเสนอ การกำหนดราคากลางสัตว์พ่อแม่พันธุ์ เพื่อการเพาะเลี้ยงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 ธันวาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=186279&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น