โครงการชลประทานระบบท่อ อีกหนึ่งแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่า
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 51
โครงการชลประทานระบบท่อ อีกหนึ่งแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ในช่วงฤดูแล้งปี 2551 นี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรล่วงหน้าโดยคาดว่า จะมีพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านไร่ โดยในเบื้องต้น มีการแบ่งหน้าที่ให้แต่ละกรม กอง ไปวางแนวทางแก้ปัญหาล่วงหน้า อย่าง กรมชลประทาน มีการสำรองเครื่องสูบน้ำ 1,200 เครื่อง รถยนต์บรรทุกน้ำ 55 คัน เพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่สวนผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก และรถยนต์บรรทุกน้ำที่ใช้ตามโครงการก่อสร้าง และโครงการชลประทานต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ 240 คัน ขณะที่สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 8 ศูนย์ ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์การเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตตามแนวทางการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) รวมถึงการสำรองปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการแผนงานงบประมาณเพื่อรับมือภัยแล้งระยะสั้น ปี 2551 และระยะยาวปี 2552-2554 รวม 4 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการเพิ่มต้นทุนน้ำ 2. มาตรการกระจายน้ำ 3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปา 4. มาตรการบริหาร โดยระยะสั้นปี 2551 จะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 13,058.85 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรับมือภัย แล้งทั่วประเทศ เช่น โครงการฝนหลวง การปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างระบบประปาและเจาะบ่อบาดาล ซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน สำรวจสถานภาพแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค เป็นต้น ส่วนระยะยาวปี 2552-2554 ได้อนุมัติงบประมาณ 33,089.18 ล้านบาท รวมงบประมาณด้านภัยแล้งปี 2551-2554 ทั้งสิ้น 46,148.03 ล้านบาท
สำหรับกรมชลประทานนั้นนอกจากภารกิจทั่วไปที่ต้องดำเนินการแล้วก็ยังมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบท่อ ซึ่งมีจังหวัดขอนแก่น 3 ใน 10 ของโครงการชลประทานนำร่องทั่วประเทศ ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเกิดการยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างรายได้จากการใช้น้ำของโครงการอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการบริหารจัดการน้ำและการมีส่วนร่วมของราษฎร โครงการชลประทานระบบท่อในเขตจังหวัดขอนแก่นทั้ง 3 แห่ง คือ โครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านโนนฆ้อง โครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านดอนกอก ต.บ้านผือ และโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านกุดแคน ต.โนนทอง ซึ่งมีการดำเนินการในเรื่องของการซ่อมแซมองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ อาทิ ท่อส่งน้ำ หัวจ่ายน้ำ และสถานีสูบน้ำ ซึ่งบางจุดเกิดการชำรุดเสียหายเนื่องจากอายุการใช้งาน และขาดการบำรุงรักษา ตลอดจนการเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ หลังจากแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ก็ได้ทดลองสูบน้ำและส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรเพื่อหาข้อดีข้อด้อยของโครงการฯ
ซึ่งขั้นตอนการทำงานของชลประทานระบบท่อคือ นำน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนให้ไหลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกเข้ามาตามร่องชักน้ำเข้าสู่สถานีสูบน้ำ จากนั้นทำการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ ส่งไปตามท่อและเก็บไว้ในถังเก็บน้ำ ซึ่งเป็นถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กทรงกระบอกที่มีปริมาตรเก็บกักประมาณ 108 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นน้ำที่เก็บไว้ในถังจะถูกจ่ายผ่านท่อกระจายน้ำไปยังหัวจ่ายน้ำซึ่งทำหน้าที่กระจายน้ำไปยังแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกมะเขือเทศ ข้าวโพด และแคนตาลูป โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก
อันนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถมองเห็นประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและให้ผลประโยชน์แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ค่อนข้างทั่วถึงทีเดียว ที่สำคัญจะสามารถควบคุมการใช้น้ำต้นทุนให้มีคุณประโยชน์ในความต้องการใช้อย่างคุ้มค่าและดีทีเดียว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=150463&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น