เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 51
ตรุษจีน...มีผลไม้หลายหลากทั้งของเมืองร้อนและเมืองหนาววางขายกันทั่วไป ซึ่งก็มีบางชนิดที่ เป็นผลไม้เมืองหนาวแต่ปลูกในบ้านเรา และก็มีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน คือ ลูกพลับบน สถานีวิจัยดอยปุย บริเวณสวนสองแสน จังหวัดเชียงใหม่
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทรัพย์ ส่วนพระองค์ จำนวน 200,000 บาท ซื้อที่ดินบนดอยปุยจากนายทุนมาให้กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการวิจัยพืชและพัฒนาผลไม้เมืองหนาว เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ต่อมาจึงได้ตั้งชื่อสวนแห่งนี้ว่า สวนสองแสน และเป็น สถานีวิจัยแห่งแรกของประเทศไทย
ต้นพลับ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros kaki L. เป็นไม้ผลกึ่งร้อน มีการนำเข้าจาก ประเทศจีน ไต้หวันและญี่ปุ่นมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2471 อยู่ในสกุลเดียวกับพืชท้องถิ่นของไทย เช่น มะพลับ รีบู ตับเต่า กล้วยเมี่ยง จันเขา กล้วยฤาษี ตะโก มะเกลือ ฯลฯ
พันธุ์ของพลับที่ปลูกในบ้านเราเป็นพลับรสชาติฝาดทั้งหมด ซึ่งเมื่อให้ผลแล้วบางชนิด สามารถรับประทานได้หรือบางชนิดก็เปิบไม่ลง... เนื่องจากรสชาติฝาดนั่นเอง และเพื่อแก้ฝาดจึงได้มีงานวิจัยขึ้น โดย นายวรวิทย์ ยี่สวัสดิ์ นักวิจัย 8 ว. จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ได้นำพลับจากต่างประเทศมาปลูกทดสอบ ที่สวนสองแสน พบว่า พลับบางพันธุ์สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกเป็นการค้า
โดยพันธุ์พลับที่ปลูกเป็นการค้าในประเทศไทย มีอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก พันธุ์ Xichu พันธุ์ Fuyu และ พันธุ์ Hyakume อย่างไรก็แล้วแต่ พลับมีทั้งหวานและฝาด การขจัดความฝาดเพื่อผลดีทางการค้ามี 2 วิธี คือ อบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ การแช่น้ำปูนใส งานวิจัยในการขจัดความฝาดในผลพลับสายพันธุ์ Hyakume พบว่า หากเกิดมีเมล็ดขึ้นรสชาติจะมีความหวานขึ้น ส่วนผลไหนไม่มีเมล็ดก็ฝาด
นายวรวิทย์ เผยอีกว่า ได้ทดลองผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมีย ในช่วงเวลา 3 วันเท่านั้น คือ ช่วงก่อนดอกบานระหว่างบานและหลังจากบานแล้ว 1 วัน ซึ่งปรากฏว่าทำให้ผลพลับติดเมล็ดมากกว่า 4 เมล็ดจะหวานทั้งผล (ปกติมี 8 เมล็ด) ในจำนวน 96-99% แต่ปล่อยแบบไม่มีการผสมเกสรจะมีเมล็ดเพียง 30-40% และในจำนวนนั้นยังติดเมล็ดแค่ไม่เกิน 4 เมล็ดอีกด้วย
ทีมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังทดลองปลูกต้นตอโดยใช้พันธุ์ เต้าซื่อ (พันธุ์ป่า) ปลูกในเวลา 1 ปี จากนั้นก็เปลี่ยนยอดโดยใช้พันธุ์ นูซิน (พันธุ์ฝาด) อีก 2 ปีและใช้พันธุ์ ฟูยู (พันธุ์หวาน) มาเสียบยอดด้านบนสุดอีกครั้ง กลายเป็น 1 ต้นมี 3 สายพันธุ์ ผลการทดลองวิจัยก้าวมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว...หากไม่ตายก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และเตรียมนำเทคโนโลยีนี้ไปถ่ายทอดให้เกษตรกรทดลองขยายผลต่อยอดออกไป
ในคาบเวลานี้ ได้เปิดกิจกรรม จับจองเป็นเจ้าของต้นพลับ ที่ปลูกอยู่ใน สวนสองแสน เพื่อให้ผู้สนใจทดลองติดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ย รวมทั้งเมื่อผลผลิตออกมาก็สามารถเก็บไปบริโภค ได้ทันที กริ๊งกร๊างไปที่สถานีวิจัยดอยปุย 0-5321-0431, 0-5321-1142 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=79265