เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 51
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรงในขณะนี้ เพราะราคายางอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นเหตุจูงใจให้เกษตรกรปลูกยางจนเกินโควตา ประกอบด้วยเพราะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและตลาดโลกที่กำลังเจริญเติบโต มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและอื่น ๆ การพัฒนายางของไทยจึงต้องรุกให้ทันต่อกระแสโลก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตยางเป็นเกษตรกรระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นระดับต้นน้ำที่สำคัญที่ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพก่อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระดับกลางน้ำและปลายน้ำ การพัฒนาการผลิตยางให้เกษตรกรได้มีทางเลือก นอกจากผลิตยางแผ่นดิบแล้ว ยางก้อนถ้วยก็เป็นการผลิตอีกรูปแบบหนึ่งที่จะพัฒนาให้มีคุณภาพได้เช่นกัน เพื่อเป็นวัตถุดิบนำไปผลิตยางแท่ง STR ที่มีคุณภาพสูง แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดยางแท่งที่นับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันการผลิต ยางก้อนถ้วย ของเกษตรกรได้มีการผลิตแพร่หลายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดหนองคายได้รวมกลุ่มผลิตจำนวนมาก สถาบันวิจัยยางจึงขอแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรโดยเฉพาะในแหล่งปลูกยางใหม่ผลิตยางก้อนถ้วยเป็นทางเลือก เนื่องจากผลิตง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย ใช้เวลาและแรงงานน้อย การผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพจะต้องมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สะอาด สีสวย ไม่มีสิ่งปะปนและไม่มีกลิ่นเหม็น มีน้ำหนักประมาณ 80-500 กรัม
การผลิตยางก้อนถ้วยมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีหยอดน้ำกรดลงในถ้วยน้ำยางปล่อยให้จับตัวตามธรรมชาติ (เป็นวิธีที่แนะนำ) กับวิธีหยอดน้ำกรดลงในถ้วยน้ำยางแล้วคน (เป็นทางเลือก) มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ น้ำกรดฟอร์มิคเจือจาง 10% (น้ำกรดฟอร์มิค 10 ส่วนผสมน้ำ 90 ส่วน) ถังแกลลอน และขวดฉีดน้ำกรด โดยมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
วิธีที่ 1 หยอดน้ำกรดแล้วปล่อยให้จับตัวตามธรรมชาติ ก่อนอื่นให้เตรียมทำน้ำเซรุ่มที่ได้จากการกรีดแล้วปล่อยให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนในถ้วย 2 วัน วันรุ่งขึ้นจึงเริ่มกรีดเพื่อผลิตยางก้อนถ้วย โดยแคะเอายางก้อนขึ้นเสียบที่ลวด จะเห็นน้ำเลี้ยงเซรุ่มอยู่ก้นถ้วย ให้หยอดน้ำกรดฟอร์มิคเจือจาง 10% บีบ 1 ครั้ง (ประมาณ 12-15 ซีซีต่อต้น) ลงในถ้วยที่มีน้ำเลี้ยงเซรุ่ม จากนั้นลอกขี้ยางเส้นออก แล้วกรีดอย่าให้ขี้กรีดยางตกในถ้วย กรีดไปจนครบทั้งแปลง จึงกลับมาเก็บยางก้อนที่เสียบลวดไว้ใส่ภาชนะ ส่วนยางที่กรีดปล่อยให้จับตัวเป็นก้อนในถ้วย แล้วมาเก็บในวันกรีดถัดไป จากนั้นให้เก็บก้อนยางรวบรวมใส่กระสอบปุ๋ยหรือถุงตาข่ายไนลอนแล้วนำมาผึ่งเกลี่ยบนแคร่ไม้ยกพื้น หรือชั้นแคร่เหล็กในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อไม่ให้ก้อนยางติดกัน
วิธีที่ 2 หยอดน้ำกรดแล้วคน โดยลอกขี้ยางเส้นออกจากหน้ากรีดก่อน เช็ดถ้วยยางให้สะอาดก่อนรองน้ำยาง กรีดยางตามปกติจนครบทั้งแปลง เมื่อน้ำยางหยุดไหลให้หยอดน้ำกรดด้วยการบีบ 1 ครั้ง แล้วคนให้เข้ากันปล่อยให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนถ้วย แล้วค่อยมาเก็บในวันกรีดถัดไป วิธีนี้จะใช้เวลาและแรงงานมากกว่าวิธีแรก แต่น้ำยางจับตัวเร็วกว่าภายใน 1 ชั่วโมง และไม่ต้องเตรียมทำน้ำเลี้ยงเซรุ่ม จึงเหมาะที่จะผลิตยางก้อนถ้วยในฤดูฝน หรือในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก
ทั้ง 2 วิธีนี้แม้จะเป็นเกษตรกรมือใหม่ ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะสถาบันวิจัยยางได้กำหนดมาตรฐานการผลิตยางก้อนถ้วยเพื่อใช้เป็นแนวทางให้เกษตรกรปฏิบัติ ยางก้อนถ้วยที่ดีจะต้องเป็นยางที่กรีดแล้วปล่อยให้น้ำยางจับตัวในถ้วยด้วยการหยอดน้ำกรดหรือจับตัวตามธรรมชาติ กรดที่ใช้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดอะซิติค ยางก้อนถ้วยที่ผลิตได้ต้องสะอาด ไม่มีสิ่งปลอมปน เช่น เปลือกกรีด เศษไม้ กรวด หิน ดิน ทราย และมีสีตามธรรมชาติ มีน้ำหนักประมาณ 80-500 กรัม มีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ยางก้อนถ้วยที่เหมาะต่อการซื้อขายควรมีอายุไม่เกิน 4 วัน มีความชื้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเกษตรกรสามารถผลิตยางก้อนถ้วยให้ได้มาตรฐานที่แนะนำนี้ จะทำให้เกษตรกรขายได้ในราคาสูง และมีผลดีต่อการผลิตยางแท่งเพื่อการส่งออกด้วย
เกษตรกรท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579-7557-8 ต่อ 181 หรือ 522 หรือศูนย์วิจัยยาง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตทุกแห่งของกรมวิชาการเกษตรที่อยู่ใกล้บ้านท่านได้ในเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53128&NewsType=2&Template=1