หนุนวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก เป้าปลูกในพื้นที่น้ำท่วม
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 51
หนุนวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก เป้าปลูกในพื้นที่น้ำท่วม
หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาจากสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ เกิดพายุฝนตกหนัก และอุทกภัยอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนาข้าว
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงคราวน้ำหลาก น้ำก็หลากเข้าท่วมทุ่งนา ซึ่งใช้เป็นเกราะป้องกันข้าศึกชั้นดีที่มารุกราน แต่ชาวนาก็ยังสามารถปลูกข้าวได้ ข้าวในนาสามารถยืดปล้องหนีน้ำ ชูใบและยอดเขียวสดใส เจริญงอกงามไม่เกิดความเสียหายแต่ประการใด จากประเด็นดังกล่าวนี้ได้เข้ามาเป็นเหตุผลหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมการข้าว ดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อหาพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในพื้นที่น้ำท่วม เช่นเมื่อครั้งอดีต เพื่อนำมาปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขังและท่วมถึงอันจะทำให้เกษตรกรสามารถทำนาได้และท้องนาไม่เสียหายในช่วงฤดูน้ำท่วมในแต่ละปี
นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวภายหลังการตรวจพื้นที่การก่อสร้างที่ทำการกรมการข้าวเมื่อวันก่อนว่า ในปัจจุบันปัญหาจากโลกร้อน ได้ส่งผลให้สภาวะอากาศแปรปรวน เกิดพายุฝน ตกหนัก มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ได้ทำความเสียหายให้กับนาข้าว โดยกรมการข้าวจะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก อย่างจริงจังและต่อเนื่อง สำหรับให้เกษตรกรใช้ปลูกในพื้นที่น้ำท่วมได้ ถึงแม้ว่าผลผลิตจะต่ำกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ ก็ตาม แต่ประเทศไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องปลูก เพราะคนไทยรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้กรมการข้าวจะต้องมีการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวดังกล่าวให้ได้ผลผลิตและมีคุณภาพที่สูงสุด ตรงกับความต้องการของตลาดอีกด้วย
ทางด้าน นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ในปัจจุบันกรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา และศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอยุธยา 1 และปิ่นแก้ว 56 กว่า 10 ตัน เป็นเมล็ดพันธุ์หลัก โดยทางกรมการข้าวจะได้ดำเนินการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรในศูนย์ข้าวชุมชน ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม 10 จังหวัด ในเขตภาคเหนือตอนล่าง และเขตภาคกลาง เพื่อจะให้ศูนย์ข้าวชุมชนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี กระจายให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
และข้าวที่สามารถปลูกในพื้นที่น้ำท่วมได้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ข้าวขึ้นน้ำ ซึ่งเป็นข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและยังคงให้ผลผลิต เมื่อปลูกในสภาพน้ำลึกมากกว่า 100 เซนติ เมตร ข้าวชนิดนี้มีลักษณะพิเศษที่สำคัญ คือมีความสามารถในการยืดปล้องได้ดี เช่น พันธุ์ข้าวเล็บมือนาง 111 พลายงามปราจีนบุรี ปิ่นแก้ว 56 เป็นต้น ในส่วนของข้าวน้ำลึก ซึ่งหมายถึงพันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และยังคงให้ผลผลิตเมื่อปลูกในพื้นที่น้ำลึก ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษ คือสามารถทนน้ำท่วมได้ประมาณ 7-10 วัน เช่น พันธุ์ปราจีนบุรี 1 ปราจีนบุรี 2 และอยุธยา 1 เป็นต้น
ฉะนั้นเกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วม หรือน้ำอาจท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลากระหว่างการปลูกข้าว ก็เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับการนำพันธุ์ข้าวเหล่านี้มาปลูกในพื้นที่นาของตนเอง
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3524-1680 หรือศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี โทร. 0-3727-1232 ได้ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=150460&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น