คาลล่า ลิลลี่ ที่ดอยปุย
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 51
คาลล่า ลิลลี่ ที่ดอยปุย
คาลล่า ลิลลี่ (Calla lily) เป็นไม้ ดอกประเภทหัวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zantedeschia spp. อยู่ในวงศ์ (family) Araceae วงศ์ย่อย (sub family) philodendroideae มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ มีหลากหลายสายพันธุ์ใช้เป็นได้ทั้งไม้ตัดดอก ไม้ประดับและไม้กระถาง
บัวบาง ยะอูป นักวิชาการเกษตร สถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า การปลูก คาล ล่า ลิลลี่ ในกลุ่มไม้หัวยืนต้นนั้นถ้าต้องการปลูกเป็นไม้ตัดดอกเพื่อการค้าต้องปลูกภายใต้โรงเรือนที่พลางแสงประมาณ 50-70 เปอร์เซ็นต์ โดยเตรียมแปลงกว้างประมาณ 110-120 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องทางเดินประมาณ 70-80 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้นและแถวประมาณ 50x 50 เซนติเมตรโดยปลูกสลับฟันปลา
การเตรียมแปลงควรใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 2.5 -3 ตันต่อไร่ไม่ควรยกแปลงสูงเกินไปเพราะจะทำให้ดินแห้งเร็วในฤดูแล้งเป็นเหตุให้ต้น คาลล่า ลิลลี่ ขาดน้ำซึ่งมีผลต่อปริมาณและคุณภาพดอก การใช้หัวพันธุ์ที่ขยายจากการแยกหน่อ ไม่ควรใช้หน่อจากต้นเดิมขยายเกิน 3 ครั้ง พื้นที่ที่ใช้ปลูกถ้าต้องปลูกซ้ำในแปลงเดิมหลาย ๆ ครั้งควรมีการกำจัดเชื้อโรคในดินก่อนปลูกเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
คาลล่า ลิลลี่ ในกลุ่มไม้หัวล้มลุก ควรเลือกดินที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง ซึ่งจะป้องกันหัวเน่าได้ระยะปลูกขึ้นอยู่กับขนาดของหัวพันธุ์ หัวขนาด 1-3 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 12-15 เซนติเมตร หัวขนาด 4-6 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 20-25 เซนติเมตร หลังจากปลูกควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งออกดอก หลังตัดดอกแล้วลดการให้น้ำ จนใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งเข้าสู่ระยะพักตัวจึงขุดหัวพันธุ์ล้างน้ำให้สะอาดปราศจากดินที่ติดมา จุ่มหัวพันธุ์ด้วยยาป้องกันเชื้อรานาน 5-10 นาทีแล้วผึ่งลมในที่ร่มให้แห้ง เสร็จแล้วเก็บหัวพันธุ์ไว้ที่อุณหภูมิ 20-24 องศาเซลเซียส นาน 6-8 สัปดาห์ ส่วนในการเก็บรักษาหัวพันธุ์ไว้ที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส จะมีผลเสียต่อการออกดอกและการงอกของหัวพันธุ์ และถ้าเก็บไว้นานเกิน 15-20 สัปดาห์ จะทำให้เมื่อนำไปปลูกแล้วดอกจะน้อยลงและก้านดอกสั้น
คาลล่า ลิลลี่ กลุ่มไม้หัวยืนต้นสามารถให้ดอกได้หลายปีโดยในช่วง 1-3 ปี จะให้ผลผลิตได้ดีและในช่วงปีที่ 4-5 คุณภาพของดอกและผลผลิตจะเริ่มลดน้อยลง ดังนั้นควรรื้อแปลงปลูกใหม่ ในช่วงฤดูหนาวปริมาณดอกจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนมีนาคมจะให้ปริมาณดอกสูงสุดและปริมาณดอกจะเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคมซึ่งจะให้ดอกต่ำสุด ดังนั้นการตัดดอกในช่วงที่มีปริมาณดอกมากจะต้องมีการจัดการที่ดีโดยเฉพาะการตลาดเพราะในช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนซึ่งทำให้ดอกบานเร็ว สามารถตัดได้ทุกวันหรือวันเว้นวัน ส่วนในฤดูฝนดอกบานช้าสามารถตัดดอกได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
ในการปลูกนั้นปีแรกจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง โดยต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นค่าหัวพันธุ์และโรงเรือนประมาณ 60,000-80,000 บาทต่อไร่ ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ประมาณ 2,500- 3,000 ต้นแต่หากเป็นพื้นที่ลาดชันจำนวนต้นต่อไร่จะน้อยลง โดยทยอยปลูกเป็นรุ่น ๆ ละประมาณ 700-1,000 ต้น ห่างกันประมาณ 3 เดือนจะให้ผลผลิตสม่ำเสมอใกล้เคียงกันทุกปีโดยไม่ทำให้ผลผลิตขาดช่วงเมื่อครบกำหนดต้องรื้อแปลงเพื่อปลูกทดแทนต้นที่มีอายุ 3-4 ปีซึ่งสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ประมาณ 20,000-25,000 ดอก และทำรายได้ประมาณ 200,000-250,000 บาทต่อปี แต่ถ้ามีการจัดการด้านตลาดที่ดีก็จะสามารถทำรายได้ได้มากกว่าที่กล่าวมานี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=155355&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น