11.90 ล้านไร่พืชฤดูแล้งเขตชลประทานปี 51 ไม่กระทบแม้น้ำต้นทุนน้อย
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 51
11.90 ล้านไร่พืชฤดูแล้งเขตชลประทานปี 51 ไม่กระทบแม้น้ำต้นทุนน้อย
ในทุกปีเมื่อถึงช่วงต้นปีสิ่งที่จะต้องมีการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องตลอดมาและได้ก้าวเข้ามาสู่การเตรียมการและดำเนินการนั้นก็คือเรื่องของภัยแล้ง โดยเฉพาะการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการกำหนดแนวทางการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน
เช่นกันสำหรับปี พ.ศ. 2550/51 ทาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระบุไว้ในแผนโดยมีพื้นฐานของปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 29 แห่งทั่วประเทศเป็นเกณฑ์ ที่ไม่รวมอ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร และอ่างเก็บน้ำรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นฤดูฝนว่า มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกันประมาณ 33,282 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุใช้งานได้ทั้งหมด ซึ่งมีน้ำน้อยกว่าปี 2549 ที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 4,288 ล้านลูกบาศก์เมตร หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเพ่งมองกันว่าจะพอเพียงหรือไม่สำหรับการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตามในแผนการระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2550/51 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2551 เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ ตามสภาวะน้ำต้นทุนแต่ละแห่งนั้นจะมีประมาณ 20,661 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 54 ของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ของโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยมีเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานประมาณ 11.90 ล้านไร่ มีข้าวนาปรังประมาณ 7.53 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก ประมาณ 0.90 ล้านไร่ บ่อปลา-บ่อกุ้ง ประมาณ 0.72 ล้านไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้นประมาณ 1.56 ล้านไร่ อ้อยประมาณ 0.73 ล้านไร่ และอื่น ๆ ประมาณ 0.45 ล้านไร่
ทั้งนี้ ทั้งนั้น เพื่อเป็นการไม่ประมาทเพราะอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรงได้ในบางพื้นที่ สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นหน่วยงานกลางในระดับจังหวัด ดำเนินการประเมินสถานการณ์เพื่อจัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้จะให้มีการพิจารณาจากสภาพพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ สภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีน้ำไม่เพียงพอ ปริมาณน้ำต้นทุนและการบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทาน รวมถึงมาตรการและนโยบายในการปลูกพืชฤดูแล้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง และจะมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติในระดับจังหวัดขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกร
และทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในการรับสถานการณ์ภัยธรรมชาติและการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยมีศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล เป็นหน่วยงานกลางในระดับพื้นที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินผลจากการทำการสำรวจความเสียหายและความต้องการของเกษตรกรจากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบตามขั้นตอนต่อไป
ณ ตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงแม้ในพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานดูจะไม่กระทบต่อสถานการณ์น้ำเพื่อการเพาะปลูกมากนักก็ตาม แต่จากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่นั้นควรจะใช้น้ำอย่างประหยัด
ที่สำคัญการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ดูจะเป็นผลที่ดีที่สุด และเป็นที่น่ายินดีสำหรับแนวทางและมาตรการของการดูแล และแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของปี 2551 ที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีการเตรียมการ มีการวางแผน และมีแนวทางในการประสานงานของทุกส่วนอย่างเป็นระบบโดยทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงคือปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในวันนี้นั้น อันหมายความว่า เมื่อรู้ก่อน ก็จะเข้าใจก่อนและตัดสินใจก่อน ย่อมที่จะได้มาซึ่งการสูญเสียหรือความเสียหายที่ไม่มากนักนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53282&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น