กระทรวงเกษตรฯวางนโยบายภาคเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างรายได้ให้แผ่นดิน
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 51
กระทรวงเกษตรฯวางนโยบายภาคเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างรายได้ให้แผ่นดิน
ด้วยบทบาทและภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดูแลและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรของไทย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ส่วนหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินงาน เพื่อสานต่อนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ ว่าจะให้ความสำคัญงานในโครงการพระราชดำริ เพื่อให้มีความรุดหน้าและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญภาคเกษตรมาอย่างยาวนาน จนมีการจัดตั้งโครงการต่าง ๆ ขึ้นมากมาย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการพระราชดำริ ติดตามและดูแลงาน อย่างใกล้ชิด
ในขณะเดียวกันจะพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืนและมั่นคง ภายใต้แนวคิดที่ว่า เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีอาหารบริโภคที่ปลอดภัย สร้างรายได้ให้แผ่นดินโดยยึด 3 แนวทางเป็นหลักในการทำงาน
แนวทางที่ 1 เกษตรเพื่อเกษตร ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ส่งเสริมรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สร้างแหล่งน้ำที่เหมาะสม พัฒนาระบบชลประทาน ตลอดจนการสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมไทย ด้วยการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยร่วมดำเนินการกับกระทรวงศึกษาธิการ ใช้วิทยาลัยเกษตรกรรมที่มีอยู่ทั้งหมด 50 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน หลักสูตรที่เกิดขึ้น จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจอาชีพเกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา โดยหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
นอกจากนี้จะจัดตั้ง นิคมการเกษตร โดยได้มอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไปคัดเลือกพื้นที่นำร่อง โดยให้ผู้ที่จบการศึกษาจากโครงการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ โดยนิคมการเกษตรนั้น จะเป็นนิคมที่นำเกษตรกรเข้าสู่ระบบภาคการเกษตรเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กระบวนการคิดค้น การวิจัยการเกษตร การผลิต การแปรรูป และการตลาด
ส่วนแนวทางที่ 2 เกษตรเพื่อประชาชน มีหลักสำคัญ คือ ประชาชนต้องมีอาหารอย่างพอเพียงเพื่อการบริโภค และในความพอเพียงนั้น อาหารจะต้องปลอดภัยจากสารพิษ สารปนเปื้อน สารตกค้าง ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรต้องเป็นธรรม คือ เป็นธรรมทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค
สำหรับแนวทางสุดท้าย คือ เกษตรเพื่อเศรษฐกิจ มุ่งหวังที่จะผลักดันผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่เกษตรกร วางแผนแก้ปัญหาภาคการผลิตแบบบูรณาการ โดยจะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตผลผลิตทางการเกษตรแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสร้างมิติใหม่ในการส่งเสริมทั้งภาคผู้ผลิตและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ นโยบายกระทรวงเกษตรฯ ด้วยการนำของรัฐมนตรีว่าการคนใหม่ ภายใต้แนวคิด “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีอาหารบริโภคที่ปลอดภัย สร้างรายได้ให้แผ่นดิน” น่าจะสร้างโอกาสที่ดีให้แก่ภาคเกษตรไทยพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53453&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น