เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 51
ปลากะพงนึ่งมะนาว...ปลากะพงทอดน้ำปลา โจ๊กปลากะพง...อาหารสุขภาพเพื่อ ปากท้องระดับกรรมาชนริมถนนยองๆเหลา และยกขึ้นไปตามระดับชั้นของกำลังเงิน จนถึงกลุ่มไฮโซบนโรงแรม 5 ดาว...ย่อมมีเมนูปลากะพงให้ผู้บริโภค เลือกเปิบ...อย่างอร่อยลิ้น
ปลากะพงขาว...ในปัจจุบันที่พ่อครัว กุ๊กหรือเชฟ นำมาประกอบอาหารขายให้กับลูกค้า หาก จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียว นักเปิบทั้งกลายต้องแย่งจน หัวชนกันแน่ เนื่องจากค่อนข้างจะหายาก ไม่เพียงพอต่อการบริโภค
กรมประมง จึงสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยง ทั้งในกระชัง ในบ่อดินหรือในแหล่งน้ำเสื่อมโทรม อย่างเช่น บ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำจำนวนมากที่ร้างลาไปแล้ว มันจึงเป็นสัตว์น้ำที่สร้างอาชีพทดแทน
และ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวสำหรับชาวประมง เพราะตลาดมีทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน ฯลฯ
ปลากะพงขาว หรือ กะพงน้ำจืด Giany Perch มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lates calcarifer (Bloch) อยู่ในวงศ์ LATIDAE เป็นปลาสองน้ำ มีขนาดความยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร นัยน์ตาโต ส่วนหัวลาดต่ำ ลงมาจดจะงอยปาก มีขนาดปากกว้างยืดหดได้ ค่อนข้างแหลม ขอบกระดูกแก้มแหลม พุ้งกระดูกแก้มแข็งและฟันก็แหลมคม
ส่วนคอดบริเวณหาง มีขนาดใหญ่และแข็งแรง เกล็ดใหญ่มีขอบหยักเมื่อลูบ จะสากมือ ครีบหลังอันแรกมีก้านครีบเป็นหนามแข็ง ส่วนอันที่สองเป็นครีบอ่อน มีขนาดใหญ่เคียงกัน พื้นผิวลำตัวสีเงินและอาจจะเป็นสีเข้มขึ้นได้ ครีบต่างๆมีสีเหลืองอ่อนอมดำและส่วนหางกลมมนหรือเกือบตัดตรง
แหล่งอาศัยชอบอยู่ ตามป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำที่มีโป๊ะ หรือ โพงพาง ชอบอยู่ในน้ำกร่อยและเข้ามาเจริญเติบโตตามแม่น้ำลำคลองในน้ำจืดได้เพราะเป็นปลาสองน้ำ.. ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเพาะเลี้ยงกันขยายเป็นวงกว้าง
นางสายหยุด พรหมศิริ อายุ 56 ปี บุคคลตัวอย่างที่เพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง อยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังว่า
“เริ่มเลี้ยงปลากะพงขาวเป็นรายแรกของปากแม่น้ำบางปะกง เมื่อปี พ.ศ. 2529 จำนวน 4 กระชัง จากนั้นก็ขยายพื้นที่ไป กระทั่งปัจจุบันมีถึง 60 กระชัง สามารถเลี้ยงปลากะพงขาวได้ถึง 300,000 ตัว
ขั้นตอนการเลี้ยงเริ่มจากนำลูกพันธุ์ขนาด 5-7 เซนติเมตร มาใส่กระชัง ในอัตรา 2-3 ตัวต่อตารางเมตร มีการใช้อาหารทั้งอาหารสดและอาหารเม็ดวันละ 2 ครั้ง หลังจากที่เลี้ยงได้ประมาณ 60 วันหรือสองเดือนให้อาหารลดลงเหลือวันละ 1 ครั้ง....”
เมื่อเลี้ยงได้ประมาณสองเดือนปลาจะมีน้ำหนักประมาณ 90 กรัม หากเลี้ยงถึง 90 วันปลาจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 180 กรัม และครบ 6 เดือน จะได้น้ำหนักที่ 400-600 กรัม...อันเป็นขนาดที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด
การดูแลจะต้องป้องกันและรักษาโรคปลา ที่สำคัญอย่าปล่อยปลาให้อยู่แออัด แน่นเกินไป รวมทั้งต้องระวังเกี่ยวกับ เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บก้ามปู นอกจากนี้ยังมีโรคแบคทีเรีย จำพวก วิบริโอ พาราฮีโมลัยติคัส และโรคไวรัสที่เกิดจาก ลิมโฟซิติส อีกด้วย..... หากตรวจพบก็ให้รีบปรึกษาประมงอำเภอ ประมงจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ประมงที่อยู่ใกล้ฟาร์มทันที
ปัญหาอุปสรรคอื่นๆที่พบคือ คุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงบ่อยส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจน ก็แก้ไขได้ด้วยการ เติมอากาศด้วยท่อให้อากาศ พร้อมทั้งจัดวางแนวกระชัง ให้น้ำไหลเวียนได้ดี
ที่สำคัญต้องมีความตระหนักในการเลี้ยงให้อยู่ในระดับมาตรฐานสำหรับ ฟาร์มปลากะพงขาวของนางสายหยุด พรหมศิริ ได้รับมาตรฐานการผลิต ทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม Good Agricultural practice (GAP) จาก กรมประมง เป็นการการันตี
และเมื่อปี พ.ศ.2550 ก็ได้รับพระราชทานรางวัล “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ” สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวเป็นล้นพ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=80252