เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 51
เมื่อ “น้ำมัน” ดัชนีราคาซื้อขายพุ่งสูงอย่าง ต่อเนื่อง หลายหน่วยงานไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ต่างหันมาหาแนวทาง “ใช้พลังงานทดแทน” เพื่อลดต้นทุนการผลิต
โดยเฉพาะภาคเกษตร...กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำนโยบายพร้อมทั้งขับเคลื่อน อย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เหมาะสมหันมาปลูกพืชพลังงาน อาทิ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน...จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
นายประดิษฐ์ แสงกล้า ประธานกลุ่มทำไร่ ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า ชาวบ้านที่นี่จะประกอบอาชีพทำไร่สับปะรด ไร่อ้อย เลี้ยงกุ้ง ปลา ต่อมาต้นทุนการผลิตเริ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันสินค้าเกษตรขายไม่ค่อยได้ราคา ทำให้ไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงไป
พวกเราจึงหารือร่วมกันว่า ทำอย่างไรให้ ชุมชนอยู่ดีมีสุข มีต้นทุนต่ำ ในปี '48 จึงส่งตัวแทน ไปดูงานใน เรื่องของการบริหารจัดการขบวนการทำไบโอดีเซล ที่ สวนจิตรลดา เพื่อนำความรู้มาเป็นต้นแบบในการลดต้นทุนการผลิต
กระทั่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 50 สมาชิกกลุ่มได้ลงหุ้นกัน นำไป ซื้อเครื่องกลั่นไบโอดีเซล จากกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งเป็น ผู้ผลิตให้กับสวนจิตรลดา เครื่องดังกล่าวมีอัตราการผลิตที่ 800-1,600 ลิตร/วัน
การปฏิบัติงานในปีแรก คนไหนว่างก็จะมาทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน พวกเรามุ่งหวังเพียงแค่ให้เกษตรกร ชุมชน โครงการอยู่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน และให้เป็นกิจกรรมของชุมชน
แต่ละวันสมาชิกกลุ่มจะรับหน้าที่หมุนเวียน ออกไปรับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้วตามโรงแรม ร้านค้า ชุมชน และจังหวัดใกล้เคียง แต่ละเดือนรับน้ำมันที่ใช้แล้วซื้อได้ประมาณ 5,000-7,000 ลิตร เศษมันหมูได้ประมาณ 2 ตันสำหรับนำมาผลิตไบโอดีเซล
นายคงสิทธิ์ อาจไธยสง เล่าถึงขั้นตอนการผลิตว่า....จะนำไขมันมาต้มให้ละลาย จากนั้นใส่ถังกรองเพื่อเอาขี้กากออกที่จุด “ถังต้ม” เมื่อได้อุณหภูมิ 60 องศา จะเดินเข้าเครื่อง พร้อมทั้งส่งต่อไปยังเครื่องกวน ที่ใส่แอลกอฮอล์ 40 ลิตร โปแตสเซียม 2.5 กก.สำหรับกลั่นน้ำมันพืชใช้แล้วปริมาณ 200 ลิตร จุดนี้มี 2 ถัง จะใช้เวลาถังละ 1 ชม. จากนั้นส่งต่อไปยังถังล้างอีก 2 ชม.เพื่อทำให้น้ำมันสะอาด เบนน้ำทิ้ง น้ำมันที่ได้จะไหลไปลง “ถังต้มไล่ความชื้น” ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
จากเศษน้ำมัน 200 ลิตร เมื่อนำมาผ่านขบวนการ จะได้ไบโอดีเซล 180 ลิตร ขายราคา 26 บาท/ลิตร กลีเซอรีน 15-20 กก. ขายให้โรงงานซึ่งจะมารับซื้อถึงที่ในราคาลิตรละ 3 บาท เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไม่สูง บางจุดจึงดัดแปลงให้สามารถใช้ไม้ฟืนแทนไฟฟ้า ส่งผลให้จากเดิมจ่ายค่าไฟเดือนละ 5,000-6,000 บาท ลดลงมาอยู่ที่เดือนละ 700 บาท
ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง ลุงคงสิทธิ์ ยังบอกอีกว่า ชุมชนมีโครงการที่จะขยายงาน โดยส่งตัวแทนไปอบรมการทำสบู่ที่ สวนจิตรลดา เพื่อต่อไปจะนำกลีเซอรีนที่ได้มาผลิตสบู่ขายเป็นสินค้าชุมชนต่อไป
เพื่อให้มีความมั่นคง กลุ่มทำไร่ปราณบุรี ได้เจรจา ขอกู้เงินกับธนาคารเกษตรและ สหกรณ์ การเกษตรเพื่อใช้เป็นทุนสำหรับปลูกปาล์ม หวังไว้ว่า ในอนาคตจะใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน โดยขณะนี้มีสมาชิกบางรายที่มีทุน ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงานดังกล่าวแซมในร่องสับปะรดกันบ้างแล้ว
และ ธ.ก.ส. จับมือกับ กระทรวงพลังงาน ก็ให้การสนับสนุนกิจกรรม โดยทางอ้อมโดยทำโครงการ “ปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนพลังงาน” และเลือกจังหวัดประจวบฯเป็นพื้นที่เป้าหมาย
ซึ่งในกำหนดเวลา 3 ปี จะขยายพื้นที่การปลูกให้ได้ 7 แสนไร่ เกษตรกรแต่ละราย สามารถปลูกได้ ไม่เกิน 5 ไร่ โดย ธ.ก.ส.ได้กำหนดต้นทุนการผลิตการลงทุนไว้ที่ไร่ละ 13,000 บาท ในช่วง 2 ปี หลังจากนั้นต้นทุนจะอยู่ที่ไร่ละ 2,000 บาท
เป็นการเตรียมตัวเพื่ออนาคตเมื่อพวกเขามีผลผลิตปาล์ม จะสามารถบริหารจัดการ ได้อย่างครบวงจร ซึ่งพวกเขาชาวชุมชนหนองกาภูมิใจที่ได้เรียนรู้และ สืบสานตามแนว พระราชดำริพลังของพ่อ... เกษตรกรรายใดสนใจศึกษาดูงาน ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-7166-7976
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=80381