ดอกผลบน 'ผืนดินพระราชทาน' ขึ้นเหลาโกอินเตอร์ฯ
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 51
ดอกผลบน 'ผืนดินพระราชทาน' ขึ้นเหลาโกอินเตอร์ฯ
"ตรีรักษ์พงศ์ โฉมสันเทียะ” หรือ “ท็อป” เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 30 ปี อดีตพนักงานฝ่ายคลังสินค้าของสายการบินไชน่า เซ้าเทิร์น แอร์ไลน์ ซึ่งได้ ผันชีวิตสู่เส้นทางเกษตรบน “ผืนดินพระราชทาน” ในพื้นที่ ต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยปักหลักยึดอาชีพเพาะ เห็ดยานางิ หรือ เห็ดโคนญี่ปุ่น ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่กำลังมีความต้องการสูง ถือเป็นอาชีพทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับการใช้พื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ
จากการที่ได้คลุกคลีอยู่กับวงการส่งออกและนำเข้าสินค้า ท็อปมองเห็นว่า เห็ดยานางิเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ไทยมีการส่งออกมาก ต่างประเทศต้องการสูง ทั้งตลาดฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ท็อปจึงใช้ระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ดยานางิ และในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกเป็นลูกจ้างเพื่อเป็นเจ้านายตัวเอง ซึ่งปัจจุบันท็อปได้รวมกลุ่มเกษตรกรที่อาศัยอยู่บนผืนดินพระราชทาน จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผู้เพาะเห็ดในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.คลองนครเนื่องเขต มีสมาชิก 8 ราย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา
ท็อปบอกว่า การปลูกเห็ดยานางิไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก แต่มีปัจจัยสำคัญ คือ อุณหภูมิและความชื้น ในโรงเรือนเพาะเห็ดต้องควบคุมอย่างเหมาะสม ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียส โดยใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์เข้ามาช่วย ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนผู้เพาะเห็ดในเขตปฏิรูปที่ดินฯ มีโรงเพาะเห็ดยานางิ ทั้งขนาด 5x8 เมตร และขนาด 5x16 เมตร (หลังคามุงจาก) รวม 6 โรงเรือน มีกำลังการผลิตก้อนเชื้อเห็ดรวมกว่า 50,000 ก้อน ต้นทุนเฉลี่ยก้อนละ 4-5 บาท
หลังจากนำก้อนเชื้อเห็ดเข้าบ่มในโรงเรือน ประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และจะเปิดเก็บดอกเห็ดจำหน่ายได้นาน 1-1 ปี/รอบการผลิต ขึ้นอยู่กับระบบบริหารจัดการและเทคนิคการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น หากอากาศเย็นเห็ดยานางิจะออกดอกดี ไม่ต่ำกว่า 95% โดยปกติจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 300-400 กรัม/ก้อน/รอบ ปัจจุบันกลุ่มฯมีกำลังการผลิตเดือนละ 1.5-2 ตัน ประมาณ 50% ส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ และเวียดนาม ราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท ส่วนที่เหลือป้อนเข้าสู่ตลาดในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ราคากิโลกรัมละ 120-140 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วสมาชิกจะมีรายได้เหลือประมาณ 5,000-10,000 บาท/เดือน
ขณะนี้ตลาดมีความต้องการเห็ดยานางิค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มดี โดยต่างประเทศมีออร์เดอร์สินค้าจากกลุ่มฯ วันละกว่า 200 กิโลกรัม แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค ภายในปี 2552 กลุ่มฯ จึงมีแผนที่จะรับสมาชิกเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิต เป้าหมายกว่า 150,000-200,000 ก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งคาดว่าน่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 400-500 กิโลกรัม/วัน นอกจากจะจำหน่ายเห็ดดอกสดแล้ว กลุ่มฯยังมีแผนดำเนินการแปรรูปเห็ดด้วย ตามออร์เดอร์ของตลาดฮ่องกง เช่น ผลิตภัณฑ์เห็ดดอง เห็ดในน้ำซีอิ๊ว และน้ำเห็ดสามอย่าง เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
ท็อปยังบอกอีกว่า ทาง ส.ป.ก.ฉะเชิงเทรา ได้ผลักดันให้กลุ่มฯเป็น ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดชีวภาพครบวงจร เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเห็ดครบวงจร ตั้งแต่การทำก้อนเชื้อ การเปิดดอก รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดอีกด้วย ช่วงที่ผ่านมา มีเกษตรกรในเขตที่ดินพระราชทาน และเขตปฏิรูปที่ดินอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงสนใจเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้ฯ แล้วกว่า 11 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก
นอกจากศูนย์ฯจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แล้ว ยังเป็นศูนย์รับซื้อเห็ดยานางิของเกษตรกรโดยทั่วไป โดยรับซื้อหน้าฟาร์มราคาขั้นต่ำกิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อส่งสินค้าเห็ดดอกสดเข้าสู่ตลาดอีกทอดหนึ่ง ขณะเดียวกันยังมีการศึกษาตลาดเห็ดในอนาคตควบคู่ไปด้วย เพื่อผลิตเห็ดหายากจำหน่ายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ดยานางิ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เพาะเห็ดในเขตปฏิรูปที่ดิน 3/2 หมู่ 16 ต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 08-1353-0062, 08-9133-5332 อาจได้แนวทางสร้างอาชีพเสริมรายได้ภายในครัวเรือน น่าสนใจไม่น้อย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53507&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น