เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 51
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2550/51 ว่ามีเป้าหมายรับจำนำ 8 ล้านตันข้าวเปลือก โดยรับจำนำเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ซึ่งดำเนินการโดย ธ.ก.ส. รับจำนำจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง อคส. รับฝากและออกใบประทวน โดย ธ.ก.ส. รับจำนำใบประทวนที่ อคส. ออกให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง
ราคารับจำนำ กำหนดราคารับจำนำข้าว ณ ระดับความชื้น 15% แยกตามชนิดข้าว ในราคาที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยข้าวเจ้าสูงกว่าปีที่ผ่านมาตันละ 200 บาท ข้าวหอมมะลิ สูงขึ้นตันละ 300 บาท ระยะเวลารับจำนำ 1 พ.ย. 50-ก.พ. 51 ยกเว้นภาคใต้ให้รับจำนำระหว่าง 1 ก.พ.-31 พ.ค. 51 ระยะเวลาไถ่ถอน กรณีจำนำยุ้งฉางของ ธ.ก.ส. กำหนด 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ และกรณีจำนำใบประทวนของ อคส. กำหนด 3 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย. 50-31 ต.ค. 51
คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมาให้เปิดรับจำนำข้าวเปลือกเหนียวปี 2550/51 เฉพาะที่ยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาตันละ 400 บาท โดยรับจำนำข้าวเปลือกเหนียว 10% คละ ความชื้นไม่เกิน 15% ในราคาตันละ 7,900 บาท และ ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 8,100 บาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มรับจำนำได้ตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป และให้สิ้นสุดระยะเวลารับจำนำ พร้อมโครงการรับจำนำข้าว 2550/2551 หรือในเดือนกุมภาพันธ์ 2551
สำหรับภาวการณ์ซื้อขาย ภาวการณ์ซื้อขายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ราคาข้าวภายในประเทศส่วนใหญ่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีความต้องการข้าวเพื่อการส่งมอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตในตลาดมีน้อย จึงต่างออกมาแข่งกันรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันโรงสีชะลอการจำหน่ายข้าวเพื่อเก็งราคา ผู้ส่งออกบางรายไม่กล้าที่จะรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากเกรงว่าจะขาดทุนเนื่องจากราคาข้าวภายใน ประเทศพุ่งสูงขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่อย่างต่อเนื่อง
ส่วนการส่งออกนั้นข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2551 ไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 0.957 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 0.598 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 60.03 ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปีเฉลี่ยตันละ 11,912 บาท สูงขึ้นจากตันละ 11,686 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.93 ข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตันละ 7,363 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,222 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.95
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ ข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ เฉลี่ยตันละ 13,213 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,425 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.58 ส่วนการส่งออก เอฟ.โอ.บี.ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 733 ดอลลาร์สหรัฐ (23,949 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 732 ดอลลาร์สหรัฐ (23,941 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท ข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ. โอ.บี.เฉลี่ยตันละ 445 ดอลลาร์สหรัฐ (14,540 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐ (14,522 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี.เฉลี่ยตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐ (14,311 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 15 บาท ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐ (15,128 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 15 บาททั้งนี้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 32.6732 บาท
อย่างไรก็ตามเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปในวงการค้าข้าว ณ วันนี้ว่าทางอียูได้เพิ่มมาตรการตรวจเข้มข้าวจากประเทศจีน โดยออกมาตรการใหม่มีการเข้มงวดการตรวจสอบข้าวทุกชนิดที่นำเข้าจากจีนเนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการพบว่าข้าวที่นำเข้าจากจีนปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งสหภาพยุโรปห้ามการนำเข้าสินค้าที่มีสารปนเปื้อนดังกล่าว นอกจากนี้ คณะกรรมการสหภาพยุโรปจะออกคำสั่งให้มีการบังคับใช้ใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรมจากจีนหลังจากที่มีการพบสินค้าปนเปื้อนดังกล่าวในช่วงปี 2549-2550.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53552&NewsType=2&Template=1