เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 51
ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาและรณรงค์การ ใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปีงบประมาณ 2551 ขึ้น โดยมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาอย่างเนืองแน่น
นางสาวศรีนิตย์ บุญทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในฐานะตัวแทนองค์กรที่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเปิดเผยว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริในครั้งนี้ นอกจากจะให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาหญ้าแฝกให้ เกิดการบูรณาการ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานขององค์กรในทุกภาคส่วนแล้ว ยังเป็นการนำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
“จากแนวพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกในปี 2534 จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสนองพระราชดำริการดำเนินงานมากกว่า 40 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นแกนกลางในการประสานงานสนับสนุนการปฏิบัติ ซึ่งสรุปภาพรวมได้ว่า มีพระราชดำริครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษาทดลอง การอนุรักษ์ดินและน้ำ การขยายพันธุ์ การคุ้มครองสายพันธุ์ วิธีการปลูก การส่งเสริมการขยายผล การใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยทรงเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ” นางสาวศรีนิตย์ กล่าว
รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาด้วยว่า ได้ใช้แผนแม่บทเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและกำกับติดตามผลอย่างมีระบบ เริ่มจากแผนแม่บทฉบับที่ 1 ( พ.ศ. 2534-2537) เน้นงานพัฒนาหญ้าแฝกในด้านการศึกษาวิจัย ในลักษณะของงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ซึ่งเป็นระยะแรกของการพัฒนา แผนแม่บทฉบับที่ 2 ( พ.ศ. 2540-2542 ) เน้นการศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริต่อเนื่องจากแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2545-2549) เน้นการส่งเสริมและขยายผลการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
แผนแม่บทฯ ทั้ง 3 ฉบับ จะมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน โดยมีการพัฒนาดำเนินงานในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ นับแต่เริ่มงานศึกษา วิจัยพื้นฐานตั้งแต่การคัดเลือก พัฒนาสายพันธุ์หญ้าแฝก ประยุกต์ไปสู่การศึกษา งานวิจัยประยุกต์ในเรื่องการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมทั้งมี การอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมขยายผลการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างกว้างขวาง จนถึงการใช้แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) ซึ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
สำหรับนโยบายและแนวทางการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯของสำนักงาน กปร. นั้นจะยึดกรอบแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 4 เป็นแนวทางการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามแผนปฏิบัติการประจำปี พร้อมทั้ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบูรณาการ ความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานในการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงานและการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน
“สำหรับการสนับสนุนงบประมาณนั้นทางสำนักงาน กปร. จะยึดหลักการโดยจะสนับสนุนในปีแรกเมื่อมีพระราชดำริครั้งแรก และในปีต่อไปขอให้ใช้งบปกติของหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กปร.ก็พร้อมที่จะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินงาน หากข้อเสนอโครงการนั้นมีความสำคัญ และมีความจำเป็นเร่งด่วนจริง สามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ และผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการ หรือกรณีเป็นการดำเนินงานในลักษณะของงานประจำ ที่เป็นโครงการซึ่งมีความสำคัญ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณดำเนินงานทางสำนักงาน กปร.ก็พร้อมที่จะสนับสนุน หากหน่วยงานมีขีดความสามารถที่จะทำได้ดี” รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร.) กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53607&NewsType=2&Template=1