มหาวิทยาลัยเกษตรศึกษาวิจัย เสาวรสพันธุ์รับประทานผลสดสำเร็จ
เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 51
มหาวิทยาลัยเกษตรศึกษาวิจัย เสาวรสพันธุ์รับประทานผลสดสำเร็จ
เสาวรสพันธุ์รับประทานสด เป็นผลไม้ส่งเสริมของมูลนิธิโครงการหลวงที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่งและมีปริมาณความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี ในแง่ของเสาวรสเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ เสาวรสสดมีปริมาณเบต้า แคโรทีน วิตามินซีและวิตามินอีสูง เสาวรสที่มีรสเปรี้ยวจะปลูกส่งโรงงานเพื่อนำไปบริโภคโดยตรง ปัจจุบันเสาวรสเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากเนื่องจากมีรสชาติดีประกอบกับให้คุณค่าทางอาหารสูง โดยมีวิตามินซี 20 มิลลิกรัมต่อเนื้อ 100 กรัม
ผศ.ดร.สิริภัทร์ พราหมณีย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสนและคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยเสาวรสขึ้นและประสบความสำเร็จสามารถนำมาขยายผล เพื่อการเพาะปลูกของเกษตรกรของประเทศไทยได้แล้วในตอนนี้
และจากรายงานการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวได้ระบุว่า เสาวรสสามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบและพื้นที่สูง แต่พื้นที่ปลูกควรมีแสงแดดส่องทั่วถึง เสาวรสให้ผลผลิตได้ตลอดปีถ้าไม่ขาดน้ำ การปลูกมี 2 แบบ คือ การปลูกแบบอาศัยน้ำฝนและการปลูกแบบให้น้ำ เสาวรสพันธุ์รับประทานสดควรปลูกในพื้นที่ให้น้ำได้ การปลูกแบบอาศัยน้ำฝนจะให้ผลผลิตในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นต้องวางแผนการปลูกก่อนเดือนสิงหาคมอย่างน้อย 7 เดือน ส่วนการปลูกแบบให้น้ำสามารถทำ ได้ทุกช่วงเวลา แต่ควรคำนึงถึงความสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา เช่น ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนจะประหยัดในเรื่องการใช้น้ำแต่จะมีการกำจัดวัชพืชมากขึ้น ถ้าปลูกในช่วงฤดูร้อนจะพบปัญหาการให้น้ำ แต่การกำจัดวัชพืชจะน้อยลง
ประเทศไทยเริ่มปลูกเสาวรสครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 โดย เป็นพันธุ์สีม่วงมีรสชาติค่อนข้างเปรี้ยว สำหรับมูลนิธิโครงการหลวงมีการปลูกเสาวรสอยู่ 2 ชนิด คือ เสาวรสโรงงานได้ส่งเสริมปลูกมานานแล้ว และเสาวรสสำหรับรับประทานสด ซึ่งคัดเลือกพันธุ์ได้ในปี พ.ศ. 2539 และส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูกในปี พ.ศ. 2540 เสาวรสที่ส่งเสริมปลูกในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. เสาวรสพันธุ์สำหรับส่งโรงงาน เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติเปรี้ยว ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อส่งโรงงานเพื่อนำไปแปรรูปน้ำผลไม้ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือเสาวรสโรงงานชนิดสีม่วง เสาวรสชนิดนี้ผิวผลสีม่วง ผลมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ ดอกสามารถผสมตัวเองได้ดี ดอกบานในตอนเช้า ผลสุกมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมมากกว่าพันธุ์สีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร น้ำหนัก 50-60 กรัมต่อผล
และเสาวรสโรงงานชนิดผลสีเหลือง เสาวรสชนิดนี้ผิวผลสีเหลือง ดอกจะบานในตอนเที่ยง ส่วนใหญ่ผสมตัวเองไม่ติดต้องผสมข้ามต้น ทนต่อโรคต้นเน่า เถาเหี่ยว โรคไวรัส และทนต่อไส้เดือนฝอย นิยมใช้เป็นต้นตอในการเสียบกิ่งพันธุ์ของผลสีม่วงเส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 6 เซนติเมตร น้ำหนักผล 80-120 กรัมต่อผล มีรสเปรี้ยวมาก เนื่องจากเนื้อในมีความเป็นกรดสูงกว่าพันธุ์สีม่วง
2. เสาวรสพันธุ์รับประทานสด เป็นพันธุ์ที่มีรสชาติดี รสหวานกว่าพันธุ์ที่ส่งโรงงาน มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์รับประทานสดเบอร์ 1 ลักษณะผลเป็นรูปไข่สีม่วงอมแดง ผลที่ผ่าตามขวางมีลักษณะมี 3 พู เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร น้ำหนัก 70-80 กรัมต่อผล รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เปอร์เซ็นต์ความหวานเฉลี่ยประมาณ 16 Brix
และพันธุ์รับประทานสดเบอร์ 2 ลักษณะคล้ายพันธุ์เบอร์ 1 แต่ผลจะสีเข้มและเปลือกมีความหนากว่าพันธุ์เบอร์ 1 จึงเก็บรักษาไว้ได้นาน เส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 5-6 เซนติเมตร น้ำหนัก 70-100 กรัมต่อผล เปอร์เซ็นต์ความหวานเฉลี่ยประมาณ 17-18 Brix
เสาวรสจะให้ผลผลิตดีในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่สามารถให้น้ำได้จะสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี ผลเสาวรสจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 50-70 วันหลังดอกบาน
นับว่าเป็นความสำเร็จอีกชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการทำการศึกษาวิจัยพืชเพื่อการต่อยอดและขยายผลให้กับเกษตรกรนำไปเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=156052&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น