เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 51
จังหวัดน่าน ดินแดนแห่งอารยธรรม ล้านนาที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ จังหวัดนี้มีทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำทอดผ่านทั่วทั้งจังหวัด มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,170,045 ไร่ แบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา ร้อยละ 47.94 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ร้อยละ 39.24 พื้นที่ทำการเกษตร ร้อยละ 12.22 และพื้นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.60
ด้วยสภาพภูมิประเทศ ที่เป็นป่าเขามีความลาดชันสูงนี่เองทำให้เกิดปัญหาด้านการทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 10% ที่อยู่ในหุบเขาก่อให้เกิดปัญหาการเผาป่า บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยหรือปลูกพืชผัก ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งจะพบหมอกควันจากการเผาป่าจำนวนมาก ที่สำคัญยังพบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูงเรียกได้ว่าหน้าดินแทบไม่เหลือเลย เมื่อหน้าดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ก็หายไปด้วย พืชผลทางการเกษตรก็ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร มิหนำซ้ำการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะทำการเผาเพื่อเตรียมดินไว้ปลูกรอบต่อไป ยิ่งส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปช่วยถ่ายทอดให้เกษตรกรได้รู้จักวิธีการบริหารจัด การทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อฟื้นฟูสภาพดินให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและใช้ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการตอกย้ำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินมากขึ้น ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงได้จัดงานวันพัฒนาที่ดินน่านขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ สถานีพัฒนาที่ดินน่าน ซึ่งเสมือนเป็นการเปิดบ้านให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการจัดการทรัพยากรดินทุกรูปแบบ สำหรับให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ทำกินของตนเอง
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เล่าถึงที่มาของการจัดงานวันพัฒนาที่ดินน่านว่า ทุกปีกรมพัฒนาที่ดินจะจัดงานวันครบรอบวันสถาปนากรมฯ ในวันที่ 23 พฤษภาคม โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าไปดูงานหรือโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ ทั้งหมด แต่เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลก็จะไม่มีโอกาส ดังนั้น กรมฯ จึงตั้งเป้าหมายที่จะกระจายการจัดงานในลักษณะดังกล่าวไปตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินน่านมีความพร้อมจึงได้คัดเลือกให้เป็นแห่งแรกในการจัดงานวันพัฒนาที่ดินน่าน และตั้งเป้าว่าต่อไปจะขยายการจัดงานวันพัฒนาที่ดินไปให้ครบทุกจังหวัด
โดยขณะนี้ ในแต่ละสถานีพัฒนาที่ดินจะมีศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน ที่มีกิจกรรม ต่าง ๆ เช่น การแสดงเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินทุกแขนง แปลงสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรลดการใช้สารเคมี เนื่องจากนับวันราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีจะแพงขึ้นทุกขณะ ที่สำคัญต่อไปอาจจะไม่พอใช้ด้วยซ้ำ ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดการพึ่งพาสารเคมีและหันมาใช้สารอินทรีย์ที่สามารถผลิตไว้ใช้ได้เอง นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่เกษตร ผลที่ตามมาก็คือผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
และสิ่งที่กรมพัฒนาที่ดิน มุ่งเน้นให้ทางสถานีพัฒนาที่ดินถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรอีกอย่างหนึ่งคือการใช้พืชปุ๋ยสดปลูกในแปลงของเกษตรกรเพื่อปรับปรุงบำรุงดินแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะต้นทุนถูกกว่ามาก เช่น พื้นที่ 10 ไร่ ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีจะมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 บาท ในขณะที่ใช้ปุ๋ยพืชสดมีต้นทุนไม่เกิน 200 บาท แถมดินยังได้รับธาตุอาหารไว้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวย้ำมาด้วยว่า ความจริงปุ๋ยเคมีไม่ได้มีพิษและพืชก็ยังมีความต้องการปุ๋ยเหล่านี้ แต่ถ้าการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่อย่างนี้อาจทำให้เกษตรกรอยู่ไม่รอด สิ่งที่จะเข้ามาช่วยลดภาระตรงนี้ได้คือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กับปุ๋ยเคมี และถ้าเกษตรกรรายใดมีความพร้อมที่จะเลิกใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีได้ก็จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรเอง เพราะปุ๋ยอินทรีย์เกษตรกรสามารถผลิตได้เองด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย ๆ จากรอบตัว เช่น เศษใบไม้ หญ้า ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูพืชก็ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
ถ้าเกษตรกรท่านใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับดินหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร สามารถเข้าไปศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ตามสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ซึ่งนอกจากที่นี่เขาจะรับปรึกษาปัญหาดิน สอนวิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยธรรมชาติ แนะนำการทำการเกษตรที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมีบริการตรวจวิเคราะห์ดิน ซึ่งจะได้ทราบว่าดินของท่านมีปัญหาอย่างไรและควรแก้ไขด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=53794&NewsType=2&Template=1