เมื่อวันที่ 7 มกราคม 51
มะเร็ง คือ โรคร้าย ที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้ทุกชนชั้น แม้ว่าจะไม่ฉับพลันเหมือนอุบัติเหตุ แต่มันก็ร้ายกว่าคือสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน
เพื่อบรรเทาต่อความเลวร้าย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้คิดค้นปัดฝุ่น เอาสมุนไพรไทยมาช่วยบำบัด คือทั้งให้เป็นโอสถสารและอาหารประจำวัน ทดแทนการบำบัดด้วยสารเคมีและการฉายรังสี
รศ.พรทิพย์ เชื้อมโนชาญ รองคณบดีเครือข่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ พูดถึงความเป็นมาว่า คณะเภสัชศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีอาการข้างเคียงต่างๆ
จึงร่วมกับ มูลนิธิต่อต้านโรคมะเร็งภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ จัดทำ “โครงการดูแลและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยมะเร็งด้วยสมุนไพรไทย” ใน บ้านนันทราษฎร์ ซึ่งเป็นบ้านพักผู้ป่วยมะเร็ง โดยการทำสวนสมุนไพรในบริเวณบ้านพัก เพื่อเป็นแหล่งสมุนไพรให้ผู้ป่วยและญาติสามารถนำสมุนไพรไปใช้และให้ความรู้เกี่ยวกับ การลดอาการข้างเคียง
กิจกรรมในการนำสมุนไพรมาใช้ในผู้ป่วยนั้น จักต้องให้ความรู้และความเข้าใจ แก่ผู้ป่วยและญาติไปพร้อมๆกัน จึงจะได้บรรลุผลตาม
ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว จาก ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ บอกว่า การดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยด้วยสมุนไพรและผักพื้นบ้าน เป็นการสร้างความสำคัญ ให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และสมุนไพรกับผักพื้นบ้านนั้น ต้องไม่ส่งผลรบกวนต่อการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่ผู้ป่วยมะเร็งได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี ซึ่งมีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถลดอาการข้างเคียงของผู้ป่วยมะเร็ง ที่สำคัญสมุนไพรและผักพื้นบ้านของไทยหลายชนิดให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี จึงเหมาะที่จะนำมาดูแลสุขภาพในรูปแบบของอาหาร
สมุนไพรที่พบว่าให้ผลในการรักษาและมีความปลอดภัยสูง มีหลายชนิด เช่น กระชาย และ ขิง ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ Volatile oil ประมาณ 0.08-2% ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ บอระเพ็ด ใช้เพื่อรักษาอาการเบื่ออาหาร ไพล มีองค์ประกอบสำคัญ คือ Volatile oil, curcumin และมีสารในกลุ่ม phenylbutanoids ที่ให้ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการเคล็ดขัดยอกฟกช้ำ ฟ้าทะลายโจร ใช้รักษาอาการเบื่ออาหาร ข้อควรระวังในการใช้ คือ อาจเกิดอาการปวดท้อง ปวดเอว เวียนหัว ซึ่งนั่นแสดงว่าเกิดอาการ แพ้ยา ควรหยุดยา โดยเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน เพราะเป็นยาเย็น จะทำให้มือและเท้าชาอ่อนแรง มะแว้งเครือ หรือ มะแว้งต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ
ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว ยังบอกต่ออีกว่า ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทานผักพื้นบ้าน เช่น ผักที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ใบชะพลู ผักแพว ใบยอ ผักกะเฉด ยอดแค สะเดา สะแล มะเขือพวง ขี้เหล็ก ใบเหลือง ผักแส้ว กระถิน ตำลึง ผักฮ้วน
ผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ ใบย่านาง ผักแพว ตำลึง ยอดแค ใบกะเพรา ผักแว่น ใบแมงลัก ชะอม ฟักทอง ผักที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ผักกูด ขมิ้นขาว ผักแว่น ใบแมงลัก ใบกะเพรา ยอดมะกอก กระถิน ชะพลู ขี้เหล็ก ผักแขยง
ผักที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ดอกขี้เหล็ก ดอกและยอดผักฮ้วน มะรุม พริก ยอดสะเดา มะระขี้นก ผักหวาน ผักเชียงดา ผักขี้หูด ผักแพว
รศ.พาณี ศิริสะอาด อาจารย์ผู้ร่วมโครงการ หนึ่งในทีมงานวิจัยสมุนไพรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า....การนำพืชผักมาให้ผู้ป่วยรับประทานได้อย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ควรใส่ใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง มักมีร่างกายซูบผอม เนื่องจากมีความรู้สึกหดหู่ ขาดกำลังใจ มีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้หรือเบื่ออาหาร จึงต้องปรับวิธีการปรุงอาหาร ทั้งการให้ผักสดปั่น ผักต้มปั่นและธัญพืชปั่น ซึ่งมีพืชผักหลายชนิดที่นำมาปั่นได้ เช่น มะเขือเทศ มะนาว ผักกาดหอม เมล็ดถั่ว เป็นต้น
ซึ่งการปั่นจะทำให้ไม่ต้องเคี้ยวนาน ลดภาระการย่อย ทำให้ดูดซึมได้เร็วได้รับทั้งสารอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และสรรพคุณด้านยา เมื่อผู้ป่วยมะเร็งแข็งแรงระดับหนึ่ง แล้วก็สามารถรับประทานอาหารพื้นบ้านรสไม่จัด ก็อยากจะแนะนำเสริมว่า ควรรับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรและพืชผักพื้นบ้านเป็นทางเลือกเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง ที่จะนำไปปรับใช้เพื่อลดอาการข้างเคียงและเสริมสร้างสุขภาพ ทั้งตัวผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแล ซึ่งต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นสำคัญ และที่ขาดไม่ได้คือ การให้ความรัก เอาใจใส่ ทำให้ มีกำลังใจ และ มีความสุข ก็จะสามารถ ต่อสู้โรคร้าย ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกอย่างยาวนาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 7 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=74255