ส.ป.ก.เปิดมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 51
ส.ป.ก.เปิดมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งรณรงค์ให้มีการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดย นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเป็นมาตรการเร่งรัดอย่างหนึ่งที่ ส.ป.ก.ต้องเร่งดำเนินการภายใต้กรอบการสร้างระบบปฏิรูปการจัดการที่ดินรายแปลงในลักษณะชุมชนร่วมสร้าง ตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเบื้องต้นได้กำหนดหลักการคุ้มครองพื้นที่ฯ เป็น 4 กิจกรรม คือ กิจกรรมสาธารณูปโภค กิจกรรมทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกิจกรรมตรวจสอบสิทธิที่ดินรายบุคคล ซึ่ง ส.ป.ก.จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป
ในส่วนของการดำเนินกิจกรรมสาธารณูปโภค เป็นการให้บริการด้านปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรในชุมชน แบ่งเป็น 9 กิจการย่อย ได้แก่ เพื่อการศาสนา เพื่อการศึกษา เพื่อสาธารณูปโภคชุมชน เพื่อสาธารณสุข เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการชลประทาน เพื่อการคมนาคม เพื่อสวัสดิการชุมชน เพื่อสร้างสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง ส.ป.ก.ได้อนุญาตให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อกิจการ ดังกล่าวแล้ว 2,565 แห่ง พื้นที่ 195,360 ไร่ จากนี้ ส.ป.ก. จะติดตามตรวจสอบการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แยกเป็น 3 กรณี คือ ตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิว่า ยังคงเป็นผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบหรือไม่ อีกทั้งยังจะตรวจสอบการดำเนินกิจการว่า เป็นไปตามจุดประสงค์หรือหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และตรวจสอบด้านผลกระทบจากการดำเนินกิจการด้วย เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมชุมชน ไม่ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร หากพบว่าไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์จะถูกเพิกถอนสิทธิ เพื่อนำที่ดินมาจัดตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดินต่อไป
กิจกรรมทรัพยากรธรรมชาติ ได้กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาให้ความยินยอมเพื่อให้นำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ โดยจะเน้นเรื่องศักยภาพของที่ดินว่ามีความเหมาะสมและก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจสูงกว่าการประกอบเกษตรกรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทรัพยากรแร่ กลุ่มทรัพยากรพลังงาน และกลุ่มทรัพยากรอื่น ๆ ขณะนี้ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปเพื่อกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 33 ราย พื้นที่ 37,936 ไร่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีแผนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ระหว่างดำเนินการและหลังดำเนินการแล้ว
สำหรับ กิจกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสนับสนุน ได้แก่ กิจการทางวิชาการเกษตร กิจการส่งเสริมพืชผลการเกษตร กิจการที่เป็นข้อตกลงร่วมกับ ส.ป.ก. กิจการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และกิจการบริการ 2.กลุ่มเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ กิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรกรรม ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินและช่วยลดปัญหาด้านการตลาด ซึ่งมีผู้ที่ได้รับอนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์แล้ว 58 ราย เนื้อที่ 449 ไร่ หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะถูกถอนสิทธิทันที เพื่อนำที่ดินเข้าสู่ระบบปฏิรูปและจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดที่ดินทำกิน
นายอนันต์กล่าวถึงการดำเนิน กิจกรรมตรวจสอบสิทธิที่ดินรายบุคคล ว่า เป็นการให้การคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิในที่ดินเกษตรกรรม ได้แก่ ส.ป.ก.4-01 สัญญาเช่า หรือเช่าซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งสิ้น 1,787,200 ราย ทั่วประเทศ รวมพื้นที่ 29,000,793 ไร่ โดย ส.ป.ก.จะเร่งตรวจสอบสิทธิเกษตรกรทุกราย พร้อมให้การคุ้มครองดูแลอย่างทั่วถึง เน้นตรวจสอบ 3 กรณี คือ ตรวจสอบว่าผู้ที่ทำประโยชน์ยังคงเป็นเกษตรกรหรืออยู่ในเงื่อนไขตามที่กำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบว่า มีการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และตรวจสอบผลกระทบจากการประกอบเกษตรกรรมรายแปลงด้วยว่า สร้างความเสียหายต่อพื้นที่แปลงเกษตรข้างเคียงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องแนวเขตที่ดิน ส.ป.ก.ได้นำแผนที่มาตราส่วน 1 : 4,000 เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการด้านคุ้มครอง เช่น ทำแผนที่แสดงตำแหน่งที่ดินในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01ค) เมื่อติดตามตรวจสอบแล้ว หากพบว่าเกษตรกรทำประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ ในเบื้องต้นจะลดขนาดเนื้อที่เหลือตามศักยภาพของเกษตรกร และขอคืนที่ดินบางส่วน หรือกรณีพบว่า เกษตรกรฝ่าฝืนระเบียบโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำตักเตือน ส.ป.ก.จะเพิกถอนสิทธิเพื่อนำที่ดินมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรรายใหม่ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=54087&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น