เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 51
จากพืชพลังงาน รวมถึงพลังงานทดแทนในรูปแบบของพลังงานชีวมวล หรือไบโอแมส และชีวภาพหรือไบโอแก๊ส แม้การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มมีการชะลอลงชั่วคราว อันเนื่องมาจากผลปาล์มน้ำมันราคาสูงเกินกว่าที่จะลงทุนผลิตไบโอดีเซลได้ แต่การผลิตไบโอแมสและไบโอแก๊ส เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้านั้นยังมีแนวทางค่อนข้างสดใส
เนื่องเพราะปัจจุบันยังมีแหล่งวัตถุดิบอีกมากมายโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ทั้งที่เป็นโรงงานแปรรูปน้ำยางพารา และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โดยเฉพาะโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพมากที่สุด เพราะมีวัตถุดิบทั้งที่เป็นกาก เส้นใย กะลาของปาล์ม ทะลายปาล์มเปล่าที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอแมส และมีทั้งบ่อบำบัดน้ำเสียที่จะผลิตไบโอแก๊ส จึงทำให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจมากที่สุด
ประการหนึ่งเนื่องจากว่าการผลิตพลังงานทดแทนภายในโรงงานเหล่านี้มีการลงทุนเพียงครั้งเดียวที่เป็นค่าอุปกรณ์ โรงเรือนและเครื่องจักร ในขณะที่วัตถุดิบมีมูลค่านับเป็นศูนย์ เพราะเป็นวัสดุเหลือใช้ที่มาจากโรงงานอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่งเนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐให้การช่วยเหลือในรูปแบบของเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อย่างน้อย 33% ของเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนกระทรวงพลังงานเองก็มีงบประมาณสนับสนุนในกิจการนี้อีก 25-30%
ล่าสุดมีผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบที่ให้ความสนใจที่จะผลิตพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสว.แล้วอย่างน้อย 2 แห่งใน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ คือโรงงานของบริษัท อันดามัน ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ถนนอ่าวลึก-ปลายพระยา ต.อ่าวลึกใต้ และโรงงานของบริษัท โมเดิร์น กรีน พาวเวอร์ จำกัด ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึกเช่นกัน
นายไพรัช เจนพึ่งพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อันดามัน ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ กล่าวว่า เดิมที่บริษัทได้ดำเนินกิจการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชั่วโมงละ 30-45 ตันทะลายปาล์ม ล่าสุดได้ตัดสินใจลงทุนอีกกว่า 600 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลจากกะลา เส้นใยและทะลายปาล์มเปล่า ขนาด 9 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง พร้อมกันนั้นจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพจากบ่อบำบัดน้ำเสียอีก 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมงพร้อมกันด้วย โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมาทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอนุมัติจะซื้อแล้ว 9 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ในราคาหน่วยละ .30 บาท ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากไบโอแก๊สจะนำมาใช้เองภายในโรงงาน ที่ผ่านมาได้ศึกษาด้านเทคโนโลยีทั้งระบบเรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ จาก สสว.และจากสถาบันการเงินด้วย คาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็วนี้
"ถ้าพูดถึงแหล่งจากสถาบันการเงินในบ้านเรา ไม่ค่อยให้ความสำคัญทางธุรกิจตัวนี้ ทั้งๆ ผมมานั่งคำนวณแล้วเป็นการลงทุนที่แสนคุ้ม เพราะปกติเราจะหาวิธีกำจัดสิ่งเหลือใช้เหล่านี้ ประเภทเสียเงินเปล่า เหมือนบ่อบำบัดน้ำเสียต้องลงทุนอยู่แล้ว แต่นี่เราลงทุนครั้งเดียวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สองทาง คือผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินกลับมา และได้กำจัดของเหลือใช้ด้วย เท่ากับว่าวัตถุดิบเราไม่ต้องลงทุนเลย เพราะเป็นของเหลือใช้ ผมคำนวณแล้วน่าจะคุ้มทุนภายใน 7-8 ปี" นายไพรัช กล่าว
ด้าน นายชูชัย คนซื่อ กรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดิร์น กรีน พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท สยามโมเดิร์นปาล์ม จำกัด ได้ตัดสินใจลงทุน 125 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพ จากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ บอกว่า ที่ตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ และภาครัฐให้การช่วยเหลือทางด้านงบประมาณด้วย อาทิ สสว.ช่วยในรูปแบบของการร่วมลงทุน 33% จากเงินทุนทั้งหมด โดยกำหนดรวมทุนเป็นเวลา 5 ปี
"ปัจจุบันโรงงานของเรามีกำลังผลิตวันละ 800-1,000 ตันปาล์ม ทำให้มีน้ำเสียจำนวนมาก ต้องใช้พื้นที่ทำบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ถึง 40 ไร่ คำนวณแล้วจำนวนน้ำเสียเราสามารถผลิตเป็นไบโอแก๊สเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ขนาด 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ เราได้ตกลงขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งหมด เพราะภายในโรงงานเราได้ผลิตพลังงานชีวมวลมาแล้ว คาดว่าหลังจากดำเนินการไปแล้วจะสามารถได้ทุนคืนภายใน 6 ปี" นายชูชัย กล่าว
ก็นับว่าเป็นอีกกิจการหนึ่งสำหรับเจ้าของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่น่าสนใจ เพราะนอกจากที่จะได้กำจัดของเสียแล้ว สิ่งที่ได้มาคือผลตอบแทนที่เป็นกำไร ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ แผนงาน 10 ปีของกระทรวงพลังงาน (2546-2555) ที่ให้ประเทศไทยผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในรูปแบบของพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพให้ได้อย่างน้อย 8% คงไม่ไกลเกินเอื้อม และสิ่งที่ตามมาไทยจะลดดุลจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้มหาศาล
ประกวดด้านพลังงานระดับอาเซียน
นอกเหนือไปจากภาครัฐให้การสนับสนุนให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ แล้ว อีกแนวทางหนึ่ง กระทรวงพลังงานก็จัดรณรงค์ ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน อย่างที่จัดมาอย่างต่อเนื่องถึง 9 ปีแล้ว คือ จัดประกวด "ไทยแลนด์ อีเนอร์จี อวอร์ด" (Thailand Energy Awards) เพื่อเป็นการชื่นชมแก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานและด้านพลังงานทดแทน โดยผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวด อาเซียน อีเนอร์จี อวอร์ด (ASEAN Energy Awards) ด้วย
ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ ผู้เชี่ยวชาญพลังงานทดแทน กล่าวในระหว่างแถลงข่าวจัดงาน “ไทยแลนด์ อีเนอร์จี อวอร์ด 2008" เมื่อไม่นานมานี้ที่ห้องสกุลตลา เอ โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพฯ บอกว่า การประกวด “ไทยแลนด์ อีเนอร์จี อวอร์ด 2008" เพื่อยกย่องและแสดงความชื่นชมแก่ผู้ประกอบการโรงงาน/อาคาร และบุคลากรที่มีผลงานดีเด่นและเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนการจัดประกวดแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการอนุรักษ์พลังงานและด้านพลังงานทดแทน โดยคณะกรรมการตัดสินเป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนจากสมาคมองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน และผู้แทนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับโล่เกียรติคุณ ป้ายเชิดชูเกียรติ และได้รับการประกาศเกียรติคุณผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพและความสำเร็จที่ได้มุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างจริงจังให้เป็นที่ประจักษ์ระดับประเทศ สำหรับผลการตัดสินจะประกาศให้ทราบประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2551 นี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 10 มีนาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/03/10/x_agi_b001_193368.php?news_id=193368