หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
เตือนเกษตรมือใหม่ อย่าใจร้อนกรีดยาง ต้นเล็กผลผลิตน้อย ส่งผลเสียระยะยาว
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 51
เตือนเกษตรมือใหม่ อย่าใจร้อนกรีดยาง ต้นเล็กผลผลิตน้อย ส่งผลเสียระยะยาว
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการกรีดยางของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรมือใหม่จะเร่งเปิดกรีดยางในขณะที่ลำต้นไม่ได้ขนาดหรือขณะที่ต้นยางยังมีขนาดเล็กซึ่งนอกจากจะได้น้ำยางน้อยแล้ว ยังส่งผลให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต และที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อการเกิดอาการเปลือกแห้งของต้นยางในเวลาต่อมาอีกด้วย ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงถึงระดับเศรษฐกิจ หากไม่มีการป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตปลูกยางใหม่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือที่มีสภาพแห้งแล้ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการเปลือกแห้งได้ง่าย
ทั้งนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยยางพบว่า การเปิดกรีดยางที่ยังไม่ได้ขนาด หรือต้นยางที่มีขนาดเล็ก จะได้รับผลผลิตน้อย โดยเฉพาะการกรีด 1 ใน 3 ของลำต้นทุกวันกับต้นขนาดเล็ก ผลผลิตเฉลี่ยต่อครั้งลดลงร้อยละ 30-51 และผลผลิตสะสมต่อปีลดลงร้อยละ 6-43 นอกจากนี้การกรีดต้นขนาดเล็กยังมีผลทำให้อัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าต้นที่ได้ขนาดเปิดกรีด ร้อยละ 12-28
นายสุขุม กล่าวด้วยว่า ในการเปิดกรีดต้นยางต้องคำนึงถึงขนาดของต้นยางมากกว่าอายุของต้นยาง โดยต้นยางที่พร้อมเปิดกรีด เมื่อวัดเส้นรอบต้นได้ 50 เซนติเมตร ที่ความสูง 150 เซนติเมตร จากพื้นดิน โดยมีจำนวนต้นยางที่ได้ขนาดไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนต้นยางทั้งสวน หรือมีจำนวนต้นยางที่มีขนาดเส้นรอบต้นไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร ที่ความสูง 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนต้นยางทั้งสวน และก่อนที่เกษตรกรจะเปิดกรีดต้นยางจึงควรศึกษารายละเอียดในการเปิดกรีดก่อน เพื่อที่จะได้ทราบว่าควรเปิดกรีดอย่างไรถึงจะให้ผลผลิตสูงและไม่ก่อผลเสียหายแก่ต้นยาง ฯลฯ โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร.02-561-2825
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 10 มีนาคม 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=99273
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น