เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 51
“การเพาะเห็ด” ทำได้หลายวิธีโดยขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดด้วย อาทิ การเพาะเห็ดฟาง เพาะบนท่อนไม้ รวมทั้ง “การเพาะในถุงพลาสติก” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากให้ผลผลิตสูง แต่เกษตรกรหลายรายยังพบกับปัญหาในเรื่องของการใช้ แรงงานคนจำนวนมาก อีกทั้งขาดความต่อเนื่องในขบวนการขั้นตอน
ฉะนี้...นายณัฐพล โสกุดเลาะ และ นายนิรัติศักดิ์ คงทน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงสร้าง “เครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด” โดยออกแบบเครื่องผสมและ เครื่องอัดก้อนเชื้อเห็ดให้อยู่ ในเครื่องเดียวกัน แบบ 2IN1 เพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี ผศ.สมนึก ชูศิลป์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นายณัฐพล บอกว่า ก่อนที่จะสร้างเครื่องดังกล่าว ได้ศึกษาสอบถามถึงปัญหา การเพาะเห็ดจากกลุ่มเกษตรกรบ้านข่าน้อย อำเภอจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นสถานประกอบการระดับกลุ่มครัวเรือนจำนวนมาก พบว่า ขบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งการผลิตก้อนเชื้อ การผสม กรอก อัดวัสดุลงถุง ต้องใช้เวลา แรงงานจำนวนมาก ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน
ที่สำคัญ เกษตรกรใช้การคาดเดาความหนา แน่นของก้อนเชื้อ หากใส่มากเกินทำให้เชื้อเห็ดขยายตัวยากได้ผลผลิตต่ำ และ ถ้าความหนาแน่นเชื้อเห็ดต่ำ จะทำให้เชื้อเห็ดเกาะตัวกันได้น้อยขยายตัวยาก ทำให้ผลผลิตออกน้อย ด้วยเช่นกัน
จากปัญหาทั้งหมด จึงนำมาหาค่าความหนาแน่นที่เหมาะสม เพื่อออกแบบสร้าง เครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งโครงสร้างตัวเครื่องประกอบด้วย ส่วนผสม ที่ออกแบบ ให้เป็นถังในแนวแกนนอน สำหรับใช้ผสมวัสดุให้เข้ากัน ภายในใช้ใบผสมแบบเกลียวคู่ เมื่อเทส่วนผสมลงถังแล้วเปิดเครื่อง การทำงานของวัสดุจะกวนกลับไปกลับมา ทำให้วัสดุคลุกเคล้าเข้ากันได้สม่ำเสมอ ใช้เวลาเพียง 15 นาที
ส่วนอัด เป็นชุดอัดก้อนเชื้อเห็ดทำหน้าที่อัดก้อนเชื้อเห็ด ที่ได้หลังจากการผสมและกรอกลงถุง รูปแบบการทำงานคล้ายกับกระบอกลูกสูบของเครื่องยนต์ โดยส่วนนี้ทั้งหมด 2 ชุด ประกอบด้วย กระบอกและจานอัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ช่วงชัก 15 ซม.
และ...ส่วนสุดท้ายคือ ระบบถ่ายทอดกำลัง ใช้ ระบบชุดเฟืองท้ายรถไถเดินตาม และมอเตอร์ส่งมายังชุดเฟืองท้ายรถไถเดินตามโดยสายพาน หลังการศึกษาทดลองพบว่า การอัดโดยใช้เกียร์ถอยหลังสามารถอัดก้อนเชื้อเห็ดได้ 10 ถุงต่อนาที
ให้ค่าความหนาแน่นที่ดีที่สุดเหมาะสมกับการเจริญงอกงามของเห็ด นั่นคือความหนาแน่นเฉลี่ย 0.8 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และก้อนเชื้อเห็ดมีค่าน้ำหนักอยู่ในช่วง 800-1,200 กรัมต่อถุง
เครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ใช้มอเตอร์ต้นกำลังเพียงตัวเดียว จึงทำให้ต้นทุนการสร้างต่ำ ทำงานอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพเยี่ยม ปลอดภัย และยังชนะเลิศด้าน “การนำไปใช้ประ-โยชน์” จากการประชุมโรงงานวิชาการ โครงงานวิศวกรรมเกษตร ครั้งที่ 14 ซึ่งสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศ ไทย จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือปราจีนบุรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 0-4336-2006, 08-5000-7335 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 มีนาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=81817