ย้อนรอยประวัติศาสตร์กำเนิดยางไทย ในงาน 'วัน 100 ปียางพารา เบิกฟ้าตะวันออก'
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 51
ย้อนรอยประวัติศาสตร์กำเนิดยางไทย ในงาน 'วัน 100 ปียางพารา เบิกฟ้าตะวันออก'
ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก รอบปีที่ผ่านมาไทยมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 2,966,128 ตัน คิดเป็นมูลค่า 194,356.37 ล้านบาทและในปี 2551 คาดว่ามูลค่าส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันได้ส่งออกไปแล้วกว่า 285,172 ตัน มูลค่าประมาณ 20,591.73 ล้านบาท ส่งผลให้ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วประเทศเนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นแรงจูงใจให้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น
นายสายัณห์ เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกยางรวมกว่า 14.3 ล้านไร่ ในจำนวนดังกล่าวมีเนื้อที่ที่กรีดได้แล้วประมาณ 10.94 ล้านไร่ ในปี 2551 นี้คาดว่าจะผลิตยางธรรมชาติได้ถึง 3.123 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 5.86 ที่ผลิตได้ 3.02 ล้านตัน จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย
ในจำนวนดังกล่าว ผลผลิตยางปริมาณดังกล่าวของไทย มาจากพื้นที่ปลูกยางในจังหวัดจันทบุรี 400,000 ไร่ ระยอง 600,000 ไร่ ตราด 200,000 ไร่และจังหวัดใกล้เคียงอีกเป็นจำนวนมาก ยางพาราจึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างความมั่นคงและรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในภาคตะวันออก และเป็นส่วนสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแชมป์การส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งหนึ่งในการส่งออกนี้เป็นผลผลิตยางพาราจากภาคตะวันออกจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์
เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและรำลึกถึง “พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี” ซึ่งเป็นบิดาแห่งยางพาราไทยและ “หลวงราชไมตรี หรือ ปูม ปุณศรี” ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกยางพาราในภาคตะวันออกคนแรก ในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ สกย. ร่วมกับจังหวัดจันทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี (อบจ.) และชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องบูรณาการจัดงาน “วันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2551” และงาน “วัน 100 ปียางพารา เบิกฟ้าภาคตะวันออก” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2551 นี้
ทางด้านนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดจันทบุรีนับเป็นจุดกำเนิดยางพาราในเขตภาคตะวันออก โดย “หลวงราชไมตรีหรือปูม ปุณศรี” ได้นำยางพารามาปลูกที่ตำบลพลิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2499 บนพื้นที่ 60 ไร่ มีต้นยาง 900 ต้น ปัจจุบันต้นยางพาราเหล่านี้มีอายุ 100 ปีและที่สำคัญต้นยางพารา 1 ในจำนวน 900 ต้นนี้ถือได้ว่าเป็นต้นยางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ มีลักษณะลำต้นใหญ่โดยมีเส้นรอบวงถึง 6 เมตร 80 เซนติเมตร ต้องใช้คนโอบถึง 5 คน มีความสูงถึง 7 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาใบให้ร่มเงาแผ่ไพศาลเป็นบริเวณกว้าง สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่ไปพบเห็น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณและเชิดชูเกียรติของท่านหลวงราชไมตรีซึ่งถือเป็นบิดาแห่งวงการยางพาราภาคตะวันออกที่ได้สร้างประโยชน์ไว้ให้แก่วงการยางพาราในภูมิภาคนี้ ชาวสวนยางจังหวัดจันทบุรีจึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์หลวงราชไมตรีขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่วงการยางพารา โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้จะสร้างขึ้นในบริเวณทางขึ้นน้ำตกพลิ้ว ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชาวจังหวัดจันทบุรี และในอนุสาวรีย์แห่งนี้เองจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศวิทยา ซึ่งทุกท่านที่มาเที่ยวชมน้ำตกพลิ้วแล้วก็สามารถแวะเวียนมาน้อมสักการบูชาอนุสาวรีย์หลวงราชไมตรีและเที่ยวชมดูความร่มรื่นในบรรยากาศสวนป่ายางพาราอายุ 100 ปีได้ ณ สถานที่แห่งนี้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=54133&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น