เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 51
ไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะให้มะขามหวาน ของดีเมืองเพชรบูรณ์ มีรสชาติหอมหวานถูกใจผู้บริโภคและช่วยเพิ่มผลกำไรให้แก่เกษตรกรเจ้าของสวน จากการที่มีปริมาณมะขามหวานต่อต้นเพิ่มขึ้น หากการดูแลรักษาไม่ดีพอ
รศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยถึงเคล็ดลับการดูแลมะขามหวานให้ได้ปริมาณมากและคุณภาพดีว่า เจ้าของสวนต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ตั้งแต่เก็บเกี่ยวฝักหมดแล้วให้ตัดแต่งกิ่งในพุ่มต้นโปร่ง ตัดกิ่งจากโคนกิ่งใดกิ่งหนึ่งไปหาปลายกิ่ง จะต้องตัดกิ่งแห้ง กิ่งชี้เข้าในพุ่ม กิ่งฉีกหัก กิ่งเป็นโรคแมลง และฝักแตก ฝักแห้งออก
"ถ้าปลายกิ่งพ้นชายพุ่มไปหาแสงได้ต้องเอาไว้ ส่วนยอดของพุ่มที่ไม่สามารถพ่นยาป้องกันแมลงและโรคได้ ส่วนปุ๋ยควรให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทางดิน โดยวัดจากชายพุ่มไปยังโคนต้นเป็นเมตรได้กี่เมตร เท่ากับกิโลกรัมของปุ๋ย ถ้าได้ 3 เมตร ให้ใส่ 3 กิโลกรัม แล้วให้น้ำจนชุ่ม มะขามจะเริ่มแตกตาเจริญเป็นกิ่ง"
รศ.ฉลองชัย ย้ำอีกว่า เมื่อแตกกิ่งใหม่ควรพ่นยาป้องกันกำจัดแมลงด้วยยา “คาบาริล” เช่น เซฟวิน หรือ S-85 ผสมกับยาป้องกันกำจัดราแป้ง เช่น ไพราโซฟอส (ซาพรอล) หรือไตรโฟรีน (อาฟูกาน) ผสมปุ๋ยใบ 10-52-17 ที่มีอาการธาตุรอง และยาจับใบ 1-2 ครั้ง ช่วยให้กิ่งที่แตกใหม่สมบูรณ์และมีตาดอก เมื่อช่อดอกเจริญควรพ่นยาป้องกันแมลงโดยเฉพาะเพลี้ยไฟและราแป้งขาวอีก 1-2 ครั้ง ก่อนดอกบาน
ช่วงดอกบานให้น้ำปกติ ปล่อยให้แมลงผสม เมื่อติดฝักที่ 1-2 ขนาดยาว 1-2 เซนติเมตร ให้พ่นปุ๋ย 21-21-21 ที่มีอาหารธาตุรองทุก 10 วัน และป้องกันราแป้งด้วย จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกในดินเมื่อติดฝักยาว 2-4 เซนติเมตร ต้นละ 2-3 เข่ง ขนาดเข่งละ 20 กิโลกรัม พ่นยาป้องกันแมลงและราในระยะฝักเจริญเติบโต ป้องกันหนอนเจาะฝักและราแป้ง และใส่ปุ๋ยทางดินเพิ่มขึ้นอาจใช้สูตร 15-15-15 ผสมกับยูเรีย อัตราส่วน 2 : 1 ปริมาณ ต่อต้นใส่เท่ากับที่ใส่ปุ๋ยให้ครั้งแรก พร้อมกับให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงกลางปีช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อย่าให้ขาดน้ำ มิฉะนั้นจะเกิดรสเปรี้ยวเมื่อฝักสุกยาป้องกันแมลงและรากต้องพ่นอยู่เสมอ
อาจารย์ภาควิชาพืชสวนคนเดิม ยังแนะอีกว่า ในช่วงปลายฝนในเดือนกันยายน-ตุลาคม ฝักจะแก่ ควรใส่ปุ๋ยทางดินด้วย โดยปุ๋ยที่ใช้นั้นควรเป็นปุ๋ยโพแทสเซียมสูง เช่น 13-13-21, 8-24-24 หรือ 9-24-24 หรือ 0-0-50 หรือ 0-0-60 ต้นละประมาณ 1-2 กิโลกรัม แล้วแต่ขนาดของต้น เมื่อฝักสุกควรเก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวังไม่ให้ฝักแตก ฝักที่เก็บมา ควรแยกเป็นพันธุ์ และคัดขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ฝักที่เก็บเกี่ยวบางครั้งพบคราบดำที่ฝัก เกิดจากราดำขึ้นที่มูลของเพลี้ยจะอยู่ที่ผิวฝัก สามารถขัดออกด้วยฟองน้ำ หรือสกอตไบรท์ที่ชุ่มน้ำ และเอาฝักที่ขัดล้างในน้ำไหลผิวจะสวยและน้ำไม่เข้าเนื้อแล้วนำไปอบได้
นอกจากการดูแลต้นมะขามแล้ว อาจารย์ยังบอกวิธีอบฝักมะขามอีกว่า ทำได้ 3 วิธี คือ 1.อบด้วยตู้แสงอาทิตย์ แบบของกรมส่งเสริมการเกษตร อุณหภูมิ 58-60 องศาเซลเซียส นาน 1 วัน 2. อบด้วยตู้อบไอร้อนจากแก๊ส อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที 3.นึ่งด้วยไอน้ำเดือด แต่วิธีนี้ไม่นิยมทำ เพราะจะทำให้ผิวเปลือกคล้ำและต้องผึ่งให้แห้งหลังนึ่งซึ่งใช้เวลานาน จากนั้นจึงนำไปบรรจุใส่ถุงหรือกล่องพลาสติกเพื่อจำหน่ายต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 มีนาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/03/11/x_agi_b001_193514.php?news_id=193514