พลับผลไม้แห่งสุขภาพ
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 51
พลับผลไม้แห่งสุขภาพ
นายวรวิทย์ ยี่สวัสดิ์ นักวิจัย 8 ว. สถานีวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่อง พลับ จากฝาดให้หวาน บอกว่า พลับ (Diospyros kaki L.) เป็นไม้ผลกึ่งร้อน มีการปลูกมานานแล้วในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย จากการสอบถาม ทราบว่านำมาปลูกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2471 พันธุ์ที่ปลูกทั้งหมดนำมาจากประเทศจีนในรูปของหน่อมีอยู่ 5-6 สายพันธุ์เป็นพลับฝาดทั้งหมด สายพันธุ์เหล่านี้ เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลแล้ว สามารถรับประทานได้ ส่วนพืชอื่นที่อยู่ในสกุลเดียวกันนี้ (Diospyros) มีอยู่มากมายซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของไทยเรา มีอยู่มากกว่า 40 ชนิด เช่น มะพลับ รีบู ตับเต่า กล้วยเมี่ยง จันเขา กล้วยฤาษี ตะโก มะเกลือ ฯลฯ การใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันไป บางชนิดรับประทานไม่ได้ บางชนิดก็รับประทานได้แต่ไม่นิยมรับประทานกัน พลับที่นำเข้ามาปลูกในตอนแรกนี้ได้กระจายไปปลูกตามแหล่งต่าง ๆ ของประเทศไทย แต่ก็ไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดของการขยายพันธุ์ เนื่องจากสมัยก่อน การขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยการชำราก หรือต้นที่เกิดจากแผลที่ราก (เกิดแผลที่รากแล้วจะเกิดต้นอ่อนบริเวณแผลขึ้นมาได้) และรสชาติที่ฝาดของผลพลับเอง
ต่อมาในปี พ.ศ.2512 มีการนำพลับพันธุ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาปลูกทดสอบโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าพลับบางพันธุ์สามารถที่จะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี ในสภาพพื้นที่สูงของประเทศไทย และได้ส่งเสริมปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบัน พลับเป็นไม้ผลที่มีลักษณะที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูงคือ สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นของพื้นที่สูงเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวจึงมีประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสภาพพื้นที่สูงเป็นพืชทนแล้งและให้ผลผลิตในฤดูฝน จึงประหยัดทรัพยากรน้ำเป็นพืชที่ใช้สารเคมีน้อย ไม่ค่อยมีศัตรูรบกวนเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่ายเหมาะสำหรับพื้นที่สูงซึ่งเหมาะกับเกษตรกรชาวไทยภูเขา
พลับสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ พลับฝาดสามารถปลูกได้ตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป แต่ถ้าเป็นพลับหวาน พื้นที่ปลูกจะต้องมีความหนาวเย็นอย่างเพียงพอโดยพื้นที่จะต้องมีความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป จึงจะสามารถออกดอกติดผลได้ดี ในพื้นที่แห้งแล้งก็สามารถปลูกพลับได้ แต่ต้องมีเส้นทางคมนาคมขนส่งดีพอสมควร เนื่องจากฤดูการเก็บเกี่ยวพลับตรงกับช่วงฤดูฝน และควรเป็นพื้นที่ที่แสงแดดดีเพราะจะทำให้ผลมีสีสวย คุณภาพดี
พลับมีพันธุ์มากมาย ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาด รูปทรง รสชาติและสีผิวของผลตลอดจนการใช้ประโยชน์ โดยในทางพืชสวนได้แบ่งพลับออกเป็น 2 ชนิด คือ พลับฝาด (Astringent) เนื้อผลจะมีรสชาติฝาด ขณะที่ เนื้อผลแข็งกรอบ และพลับหวาน (Non-astringent) เนื้อผลจะมีรสชาติหวานขณะที่เนื้อผลแข็งกรอบแต่ถ้ารอจนผลสุกแดงนิ่มแล้ว ก็สามารถรับประทานสดได้โดยไม่ฝาดทั้งพลับฝาดและพลับหวาน ดอกพลับสามารถพัฒนาเป็นผลได้โดยไม่ต้องได้รับการผสมเกสร (Parthenocarpic fruit)
ปัจจุบันการพัฒนาในด้านพันธุ์พลับได้ทำการปลูกทดสอบพลับพันธุ์ต่าง ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทำให้ประเทศไทยสามารถปลูกพลับพันธุ์ที่เป็นมาตรฐานของโลกได้อีกหลายพันธุ์ เช่น พลับหวานพันธุ์ Jiro พลับฝาดพันธุ์ Tone Wase และ Hiratanenashi และกำลังขยายพันธุ์ออกสู่งานส่งเสริม นอกจากนี้ ยังมีพลับที่ทำการปลูกทดสอบอยู่ คาดว่าจะสามารถส่งเสริมปลูกได้ในอนาคตอีก คือพันธุ์ Oku Gosho ซึ่งเป็นพลับหวานที่มีขนาดผลใหญ่ ดังนั้นพลับจึงเป็นพืชที่จะมีความสำคัญมากในอนาคตค่อนข้างแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=157393&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น