เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 51
ปัญหาเรื่อง ปุ๋ยแพง คงต้องแก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยให้ถูก ในที่นี้หมายถึงใช้อย่างถูกต้องเพื่อให้ผลที่ได้รับคุ้มค่ากับปุ๋ยแต่ละเม็ดที่ใส่ลงไปในดิน ยิ่งเมื่อได้ฟังข่าวคราวว่า ถ้าปุ๋ยราคาแพง
ก็ควรเลิกใช้แล้วหันมาทำปุ๋ยหมัก ใช้จุลินทรีย์แทนกันดีกว่า อดไม่ได้ที่จะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันอีกที ก่อนที่จะถลำลึกตกคลองตามกระแสดังกล่าว
หากใครคิดว่า สามารถใช้ปุ๋ยหมักหรือจุลินทรีย์มาแทนปุ๋ยเคมีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็แสดงได้สองอย่าง คือ เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับดินและปุ๋ยเลย กับ พวกที่รู้มากเกินไปจนใช้เป็นช่องทางหาผลประโยชน์ จากเรื่องดังกล่าว ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พยายามสร้างกระแสให้เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงว่าผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาวคืออะไร เพราะว่าเมื่อถึงตอนนั้น คนที่เป็นต้นคิดก็ไม่อยู่รับผิดชอบแล้ว
เราลองมาดูความจริงเบื้องต้นกันดีกว่า สมมติว่าเอาทรายมาล้างให้สะอาด เรียกว่าไม่มีธาตุอาหารอะไรเหลือติดอยู่ แล้วลองเอาพืชไปปลูกในทรายนั้น มีการให้น้ำเป็นอย่างดี ถามว่าต้นไม้เจริญเติบโตได้หรือไม่ คำตอบ คือไม่ เพราะต้นไม้จะมีขนาดเท่าที่เป็นอยู่เมื่อตอนปลูก เพราะไม่มีธาตุอาหารมาช่วยในการเติบโตต่อไป และจะค่อยๆ ตายไปในที่สุด หากใครไม่เชื่อก็ลองทำดูได้ครับ
คราวนี้หากเราเอาจุลินทรีย์ที่ว่าดีทั้งหลายมาใส่ลงไป ถามว่าต้นไม้จะเติบโตดีเหมือนการใส่ปุ๋ยหรือไม่ คำตอบก็เหมือนกันครับ คือไม่ เพราะจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปก็ไม่มีอาหารจะกินเหมือนกัน บทบาทของจุลินทรีย์ที่เราใส่ลงในดินก็เพื่อให้ไปย่อยสลายพวกอินทรียวัตถุต่างๆ กระทั่งสลายตัวและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมา
ดังนั้นหน้าที่ของจุลินทรีย์ก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าไม่มีแหล่งของอินทรียวัตถุต่างๆ จุลินทรีย์เหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ หรือจะสรุปให้ถูกก็คือ จุลินทรีย์กับอินทรียวัตถุเป็นของคู่กัน หากมีแต่อินทรียวัตถุโดยไม่มีจุลินทรีย์เลย ต้นไม้ก็แทบไม่ได้เนื้อปุ๋ยจากอินทรียวัตถุเหล่านั้นเหมือนกัน แต่ถ้าใส่ธาตุอาหารต่างๆ ลงไปในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการก็จะทำให้ต้นไม้นั้นเติบโตต่อไปได้ตามปกติ
หลักการที่ว่านี้ คือหัวใจสำคัญของการปลูกพืชในน้ำยา หรือ รู้จักกันว่าไฮโดรโพนิกส์ ที่ใช้สารละลายธาตุอาหารต่างๆ ในการปลูกต้นไม้โดยไม่ต้องพึ่งพาดินอีกต่อไป จากตัวอย่างที่ยกให้ดูนี้สรุปได้ ก็คือ การที่ต้นไม้จะเติบโตได้นั้น ต้องอาศัยธาตุอาหารเป็นหลัก ส่วนที่ว่าจะได้ธาตุอาหารมาจากไหนนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ ก็มีขีดความสามารถให้เนื้อปุ๋ยได้ไม่เกินปริมาณเนื้อปุ๋ยที่ตนเองมีอยู่ เช่น ปุ๋ย 46-0-0 หมายความว่า ตัวปุ๋ยชนิดนี้มีเนื้อปุ๋ยไนโตรเจนอยู่ 46% ถ้าใส่ปุ๋ย 100 กิโลกรัม ลงไปในดิน ก็เท่ากับสามารถเพิ่มเนื้อปุ๋ยไนโตรเจนได้อย่างมากไม่เกิน 46 กิโลกรัม
คราวนี้ลองมาดูปุ๋ยอินทรีย์บ้าง โดยทั่วไปมีไนโตรเจนไม่เกิน 1% หมายความว่า ถ้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดนี้จำนวน 1 ตัน ลงไปในดิน ก็จะไปเพิ่มไนโตรเจนในดินนั้นได้ไม่เกิน 10 กิโลกรัม และถ้าคิดง่ายๆ ว่า หากต้องการเนื้อไนโตรเจน 46 กิโลกรัมจากปุ๋ยอินทรีย์ ก็หมายความว่าต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ถึง 4.6 ตัน
จากข้อมูลนี้ก็จะเห็นได้ว่า ตัวหลักที่ให้เนื้อปุ๋ยแก่ต้นไม้จริงๆ น่าจะเป็นปุ๋ยเคมี เพราะถ้าหวังจะได้เนื้อปุ๋ยจากปุ๋ยอินทรีย์ก็ต้องใช้จำนวนมาก จนเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่ว่าหน้าที่สำคัญของปุ๋ยอินทรีย์ ก็คือ การปรับสภาพของดินให้เหมาะสมต่อการเติบโตของต้นไม้
ดังนั้น การใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องคือ การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ใช่เลือกใส่แต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 17 มีนาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/03/17/x_agi_b001_194401.php?news_id=194401