"ซี.พี." ร้อง JTEPA เพิ่มอุปสรรค ส่งมะม่วงน้ำดอกไม้เจาะตลาดญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 51
"ซี.พี." ร้อง JTEPA เพิ่มอุปสรรค ส่งมะม่วงน้ำดอกไม้เจาะตลาดญี่ปุ่น
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2550 ได้รับความคาดหมายว่าจะส่งผลดีกับ การส่งออกสินค้าเกษตรไทยหลายชนิด แต่หลังจากบังคับใช้ความตกลง JTEPA มาได้ระยะหนึ่ง การส่งออก "มะม่วง" ของไทยกลับมีผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม
นายบรรหาร วิสมิตะนันท์ ผู้จัดการทั่วไป โรงงานอบไอน้ำผลไม้ บริษัท ซีพี ไดมอนด์สตาร์ จำกัด ในกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า JTEPA ไม่เอื้อต่อการส่งออก แต่กลายเป็น "อุปสรรค" ต่อการเติบโตของมะม่วงไทยในตลาดญี่ปุ่นแทน ในปี 2550 ไทยมียอดส่งออกมะม่วงไปญี่ปุ่น 1,600 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 20% และคาดว่าการส่งออกมะม่วงในปี 2551 จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากยอดส่งออกของบริษัทในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 2 เท่าตัว
ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกมะม่วงไปจำหน่ายในญี่ปุ่นไม่ต้องเสียภาษี แต่ภายหลังการประกาศใช้ JTEPA ผู้ส่งออกต้องยุ่งยากและเสียเวลาในการจัดเตรียมเอกสารฟอร์ม A เพื่อขออนุญาตนำเข้ามะม่วง และบางครั้งลูกค้าเปลี่ยนใจต้องการสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม บริษัทต้องปฏิเสธไปอย่างน่าเสียดายเพราะไม่สามารถยื่นขอเอกสารฟอร์ม A ตามระเบียบ JTEPA ได้ทันเวลา ทำให้ JTEPA กลายเป็น "ปัญหา" ปิดโอกาสทางการขายแทน จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับปรุงระบบเอกสาร JTEPA ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อเปิดโอกาสทางการค้ามากขึ้นในอนาคต
ส่วนแนวทางการขยายตลาดญี่ปุ่น ในปีนี้บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท เดนนี่ จำกัด ในเครือของบริษัท เซเว่น แอนด์ไอ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเครือข่ายเซเว่น อีเลฟเว่นในญี่ปุ่น แนะนำ "มะม่วงน้ำดอกไม้" ของไทย ในเมนูผลไม้ของทางภัตตาคารเดนนี่ ที่มีเครือข่ายมากกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก และวางแผนที่จะสานต่อโครงการเพื่อจะส่งเสริมการขายมะม่วงมหาชนก ผ่านช่องทางเครือข่ายภัตตาคารเดนนี่ในอนาคต
ปัจจุบันมะม่วงคาราบาวของฟิลิปปินส์ถือเป็นคู่แข่งขันสำคัญ โดยมีส่วนแบ่งตลาดญี่ปุ่นถึง 50% รองลงไปคือ เม็กซิโก ส่วนไทยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 15% แต่จุดเด่นด้านรสชาติที่หอมหวานของมะม่วงไทย เชื่อว่ายังมีโอกาสขยายตลาดในญี่ปุ่นได้มากในอนาคต
ซี.พี.ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วง มหาชนก และอื่นๆ บนพื้นที่ 3,000 ไร่ ในจังหวัดราชบุรีและชลบุรี โดยมีเกษตรกรในเครือข่ายปลูกมะม่วงมากกว่า 1,000 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พิษณุโลก นครราชสีมา ระยอง เชียงใหม่ โดยรับซื้อผลผลิตในราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 40บาท/ก.ก. คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่าปีละ 500 ตัน ซึ่งร้อยละ 90 เป็นสินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้ ที่เหลือเป็นมะม่วงมหาชนก
นอกจากญี่ปุ่นจะเป็นคู่ค้าหลักแล้ว บริษัทได้กระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง อียู นิวซีแลนด์ และจีน โดยวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าโลตัส 60 สาขา สำหรับโรงงานอบไอน้ำแห่งนี้ เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 ได้รับมาตรฐาน GMP กำลังพัฒนาสู่ระบบ HACCP โรงงานแห่งนี้มีศักยภาพการผลิตอยู่ที่ 1,000 ตัน/ปี แต่ปัจจุบันมีกำลังผลิตเพียง 400 ตัน/ปี จึงเปิดรับจ้างอบไอน้ำ ให้แก่ผู้ส่งออกผลไม้ที่สนใจในอัตรา ก.ก.ละ 25 บาท
ด้าน นายสมภพ ธีรอำพน สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า สำหรับสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ควรยื่นหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form JTEPA เนื่องจากจะสามารถใช้สิทธิ ประโยชน์ได้โดยอัตโนมัติ ขณะที่หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form A นั้นจะใช้กับสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ผ่านจีเอสพี ซึ่งให้ประโยชน์น้อยกว่าความตกลงเอฟทีเอ
ทั้งนี้ อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิประโยชน์ของ JTEPA ในกรณีสินค้าเกษตร ในเรื่องของการกรอกแบบฟอร์มแสดงแหล่งกำเนิดสินค้าไม่น่าจะมีปัญหากับผู้ส่งออกและกรม สามารถออกใบรับรองให้ได้เลยภายใน 1 วัน แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออก น่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช (SPS) มากกว่า เพราะทางญี่ปุ่นมีความเข้มงวดในเรื่อง เหล่านี้มาก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า นับตั้งแต่ JTEPA มีผลบังคับใช้เมื่อพฤศจิกายน 2550 มีการยื่นขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Form JTEPA ในเดือนพฤศจิกายน 2550-มกราคม 2551 แล้ว 24,568 ฉบับ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 มีนาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02for01170351&day=2008-03-17§ionid=0205
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น