เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 51
เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแบ่งเบาภาระต้นทุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเมื่อถึงฤดูกาลปลูกได้เวียนมาอีกครั้ง อย่างยิ่งการเตรียมท่อนพันธุ์ที่จะนำมาปลูก จะต้องตัดเป็นท่อนๆ ให้เท่ากัน ที่ผ่านมาจะใช้แรงงานคนเป็นหลัก
ทำให้ท่อนพันธุ์นั้นแตกเสียหายบางส่วน ที่สำคัญเปอร์เซ็นต์การงอกเมื่อนำไปปลูกจะต่ำ ส่งให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำตามไปด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้น้องๆ นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ช่วยกันสร้างเครื่องต้นแบบตัดท่อนพันธุ์ หรือ "ชุดตัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง" ขึ้น เพื่อประหยัดเวลาในการเตรียมท่อนพันธุ์ และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะเครื่องนี้นอกจากราคาถูก ใช้แรงงานคนควบคุมไม่กี่คนแล้ว ยังบำรุงรักษาง่าย
ปริญญา นาสารีย์ หนึ่งในทีมงานที่ผู้คิดค้น บอกว่า คิดสร้างเครื่องนี้เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว จากการที่ตัวเองและเพื่อนอีก 2 คน คือ พัฒนพงษ์ อินทรสด และเอกลักษณ์ บำรุงศิลป์ ได้ไปลงภาคสนามในสวนมันสำปะหลังจริง เห็นการทำงานทุกขั้นตอน ซึ่งเกือบทั้งหมดจะใช้แรงงานคนจำนวนมาก จึงกลับมาคิดกันว่า น่าจะผลิตเจ้าเครื่องนี้ขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ โดยเฉพาะขั้นตอนการสับท่อนพันธุ์ โดยมี ดร.จตุรงค์ ลังกาพินธุ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
เมื่อทีมงานเห็นพ้องจะผลิตเครื่องสับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ปริญญา บอกว่า ได้นำหัวข้อดังกล่าวไปปรึกษาอาจารย์ และในที่สุดก็ออกมาเป็นรูปแบบของตัวเครื่อง ที่จะต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ใบเลื่อยวงเดือนขนาด 10 นิ้ว ลูกเบี้ยวควบคุมการทำงานการเคลื่อนที่ของใบเลื่อยวงเดือน เครื่องยนต์เล็กขนาด 5.5 แรงม้า เกียร์ทดอัตราส่วน 10 : 1 และแผ่นควบคุมความยาว ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนจะต้องถูกติดตั้งอยู่บนโครงสร้างของเครื่อง
"จากนั้นจึงลงมือประดิษฐ์ไปตามแบบ ซึ่งใช้เวลาราว 2 เดือนก็เสร็จ ความสามารถในการทำงานของเครื่องนี้ ตัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังได้ทั้งแบบตรง และแบบเฉียง (45 องศา) ขั้นตอนการทำงานคือ เมื่อป้อนต้นมันสำปะหลังลงในชุดป้อน จากนั้นต้นมันสำปะหลังจะล่วงเข้าสู่แผ่นควบคุมความยาว แล้วถูกตัดด้วยใบเลื่อยวงเดือน ความยาวของท่อนมันที่ถูกตัด สามารถปรับได้ 20-30 เซนติเมตร” ปริญญาตัวแทนกลุ่ม แจง
พร้อมระบุถึงความสามารถของเจ้าเครื่องนี้ ว่า หลังนำไปทดลองตัดท่อนพันธุ์เพื่อเตรียมลงปลูกในแปลงจริงของมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าเครื่องนี้ตัดท่อนพันธุ์ตรงได้ 5,200 ท่อนต่อชั่วโมง คิดเป็น 96.3 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายเท่ากับศูนย์ และสามารถตัดเฉียงได้เท่ากับ 4,798 ท่อนต่อชั่วโมง คิดเป็น 95.5 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายเท่ากับ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ใช้เชื้อเพลิง 0.6 ลิตรต่อชั่วโมง และมีอัตราการงอกและประสิทธิภาพสูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์
ทั้งหมดนี้ ปริญญา บอกว่า ใช้ต้นทุนในการผลิตหลักหมื่นบาทเศษ แต่ความสามารถของเจ้าเครื่องนี้คุ้มค่า และในอนาคตจะพัฒนาใช้ตัดท่อนพันธุ์พืชเกษตรชนิดอื่นด้วย พร้อมฝากถึงเกษตรกรคนใดที่สนใจ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.08-6710-8865
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 18 มีนาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/03/18/x_agi_b001_194530.php?news_id=194530