เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 51
ก.เกษตรฯเดินหน้าส่งเสริมพืชพลังงานและยางพาราในภาคอีสาน ตั้งเป้าขยายโอกาสด้านเอาชีพและสร้างเสถียรภาพด้านราคา
ปัจจุบันทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพืชพลังงานอย่างจริงจังเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบลง ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนถึงนโยบายการพัฒนาพลังงานจากพืช เพราะนอกจากไทยจะมีพืชหลายชนิดที่มีศักยภาพสำหรับใช้เป็นพืชพลังงานได้แล้ว การผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านพืชพลังงานยังช่วยแก้ไขปัญหาเสถียรภาพด้านราคาของสินค้าเกษตร และนำไปสู่การสร้างงานและรายได้อื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแผนการพัฒนาพืชพลังงานในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯรับผิดชอบว่า เบื้องต้นได้หารือกับกระทรวงพลังงานในการวิเคราะห์ศักยภาพของพืชพลังงานแต่ละชนิด รวมทั้งสัดส่วนความต้องการใช้ของพืชแต่ละชนิด เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนส่งเสริมการผลิตพืชในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลที่จะจัดตั้งขึ้น จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดเตรียมพันธุ์อ้อยและท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี รวมทั้งแผนการอบรมเทคโนโลยี การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตพืชทั้ง 2 ชนิด ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยจากเดิมเฉลี่ยไร่ละ 9.6 ตัน เพิ่มเป็นไร่ละ 13 ตัน ส่วนการใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดีจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมไร่ละ 3.6 ตัน เป็นไร่ละ 5.5 ตัน
ขณะเดียวกันกระทรวงฯ จะเร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง และจัดทำโซนนิ่งที่สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานผลิตเอทานอลในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ภาคเอกชนที่ลงทุนมั่นใจได้ว่าจะ มีผลผลิตที่เพียงพอ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยกับภาคการบริโภค โดยตั้งเป้าภายใน 1 ปี จะสามารถสนับสนุนให้มีการนำผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังอย่างน้อยร้อยละ 30 ของผลผลิตทั้งหมดไปผลิตเป็นเอทานอล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ จากนั้นใน 4 ปีข้างหน้าจะผลักดันให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโอเปกของไทย
นอกจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีศักยภาพในการผลิตอ้อยและมันสำปะหลังแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังระบุด้วยว่าหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหมาะที่จะส่งเสริมให้ปลูกยางพาราทดแทนพืชไร่บางชนิดที่มีปัญหาด้านราคา ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประมาณ 2 ล้านไร่ สามารถเปิดกรีดได้แล้ว 6.3 แสนไร่ ผลผลิตรวม 1.5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2554 คาดว่าจะมีสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 1.5 ล้านไร่ที่สามารถเปิดกรีดยางได้ ให้ผลผลิตรวม 3.75 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีโครงการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราขึ้นที่ จ.หนองคายและบุรีรัมย์ สำหรับเป็นเครือข่ายของตลาดกลางยางพาราระหว่างจังหวัด โดยคาดว่าจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จและ เปิดดำเนินการได้ในปี 2551 พร้อมกันนี้จะทำการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมยางพิเศษรองรับการพัฒนายางทั้งระบบ เพื่อพัฒนาสู่รูปแบบของตลาดเครือข่ายเชื่อมโยงกับตลาดเดิม ซึ่งจะดำเนินการในรูปของ Contract Farming ได้ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจต่อผลตอบแทนที่จะได้ รับมากขึ้น
นายธีระชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากในอนาคตผลผลิตยางพาราของประเทศแถบอินโดจีนคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงฯจึงมีนโยบายที่จะผลักดันการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการส่งออกมากขึ้น โดยจะทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ จากเดิม 10% เป็น 15-20% เพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาที่อาจเกิดขึ้น
“แผนการส่งเสริมพืชพลังงานและยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมและการเชื่อมโยงการตลาดทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และลดปัญหาความเสี่ยงด้านราคาที่อาจเกิดขึ้นได้” นายธีระชัย กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=54736&NewsType=2&Template=1