สหรัฐเก็บ AD กุ้งไทย 2.4-57.64% ผู้เลี้ยงกุ้งเจอ 2 เด้งต้นทุนพุ่ง-ราคาตก-โรงเพาะเลี้ยงแห่ปิด
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 51
สหรัฐเก็บ AD กุ้งไทย 2.4-57.64% ผู้เลี้ยงกุ้งเจอ 2 เด้งต้นทุนพุ่ง-ราคาตก-โรงเพาะเลี้ยงแห่ปิด
สหรัฐประกาศผล AD กุ้งขั้นต้น ไทยเจอเรียกภาษี 2.4-57.64% แพคฟู้ด 2.40% รูบิคอน 5.24% ไทยยูเนียน โฟรเซ่น 15.30% ผู้ส่งออกไทยหวั่นสู้คู่แข่งไม่ได้ ด้านผู้เลี้ยงกุ้งเจอ 2 เด้ง ต้นทุนพุ่ง ทั้งอาหารกุ้งแพงขึ้นเท่าตัว ราคากุ้งตกวูบ โรงเพาะเลี้ยงแห่ปิดกิจการไปแล้ว 80% คาดผลผลิตกุ้งที่ออกเดือน พ.ค.เหลือแค่ 1 แสนตัน
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศผลการพิจารณาทบทวนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นต้น (AD) สินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งส่งออกจากไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 โดยมีระยะเวลาทบทวนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549-31 มกราคม 2550 ตามคำฟ้องของกลุ่มพันธมิตรชาวประมงกุ้ง ภาคใต้ 8 มลรัฐ (southern shrimp alliance หรือ SSA)
ผลจากการทบทวนขั้นต้น ไทยถูกเรียกเก็บภาษีเอดี 2.40-57.64% และคาดว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ ส่งผล กระทบต่อการส่งออกกุ้ง เพราะสหรัฐเป็นตลาดหลักของไทย มีสัดส่วนการส่งออกถึง 50% ประกอบกับไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งซึ่งถูกลดภาษีเอดีลดลง เช่น เอกวาดอร์ ลดเหลือ 0% และอัตราแลกเปลี่ยนของไทยยังปรับแข็งค่าขึ้น รวมถึงการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันอยู่ใกล้ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งส่วนหนึ่งไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการผลิตได้
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคม กุ้งตะวันออกไทย ให้ความเห็นว่า การที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเอดีเพิ่มจะเป็นการซ้ำเติมภาคการเลี้ยงกุ้ง เชื่อว่าสุดท้ายผู้ส่งออกจะต้องกระจายผลกระทบต่อมายังผู้เลี้ยง จะทำให้ผู้เลี้ยงซึ่งเดิมประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น 100% จาก ปีก่อน เช่น แป้งสาลี ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบ ปรับราคาสูงขึ้น 20-25% จากราคา 13.50-14.00 บาท ในเดือนตุลาคม 2550 ขึ้นเป็น 25-26 บาท จนทำให้โรงเพาะเลี้ยงรายย่อยต้องปิดกิจการไปแล้วถึง 80%
ก่อนหน้านี้สมาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ว่าต้นทุนการเลี้ยงเพิ่ม ราคากุ้งภายในตกต่ำ (กุ้งขนาด 50 ตัวต่อ ก.ก.) ลดลงจาก 120 บาท เหลือ 117 บาท ตอนนี้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยง และอากาศหนาวเย็น คาดว่าในเดือนพฤษภาคมซึ่งจะเป็นเดือนที่มีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดจะปรับลดลง 100,000 ตัน ซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งทั้งระบบ โดยเฉพาะโรงเพาะเลี้ยงรายย่อยต้องปิดกิจการไปแล้ว 80% ส่วนกุ้งกุลาดำแทบจะไม่มีเหลือแล้ว
นายบรรจงกล่าวว่า ข้อเสนอที่สมาคมได้แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ให้พิจารณาลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ คือ แป้งสาลี ที่เป็นส่วนผสมสำคัญของอาหารกุ้ง โดยให้ลดภาษีเหลือ 0% จากระดับภาษีอยู่ที่ 5-7% สำหรับการนำเข้าภายใต้กรอบเอฟทีเออาเซียน-จีน ส่วนนอกกรอบเอฟทีเอภาษี อยู่ที่ระดับ 20%
ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเตรียมลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 4% เหลือ 0% ซึ่งกากถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์เพียง 10% แต่มีการใช้ร่วมกันทั้งอาหารกุ้ง สุกร และไก่ 10-15%
"ในระยะยาวรัฐบาลควรให้การสนับ สนุนเพิ่มสัดส่วนการบริโภคกุ้งในประเทศด้วย เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งพึ่งพาการส่งออกกว่า 90% เมื่อตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐ ที่เป็นตลาดหลัก มีปัญหา ทั้งเรื่องมาตรการทางการค้า และกำลังซื้อถดถอยจากซับไพรม ไทยย่อมเลี่ยงผลกระทบไม่พ้น"
ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า การ ส่งออกกุ้งไปสหรัฐเดือนมกราคม 2551 ในส่วนของกุ้งแปรรูปไปตลาดสหรัฐมีสัดส่วน 51.42% มูลค่า 34.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับลดลง 16.36% ส่วนการส่งออกกุ้ง กระป๋องไปตลาดสหรัฐ สัดส่วน 43.97% มูลค่า 5.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.52%
การปรับราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงมาก ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในปี 2551 หากราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นเป็นลิตรละ 30 ต้นทุนการเลี้ยงจะเพิ่มขึ้น 0.41% หรือกิโลกรัมละ 102.23 หากดีเซลอยู่ในระดับ 31 บาท ต้นทุนเพิ่ม 0.85% หรือกิโลกรัมละ 102.68 บาท หากดีเซลลิตรละ 32 บาท ต้นทุนเพิ่ม 1.29% กิโลกรัมละ 103.12 บาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 มีนาคม 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02for01240351&day=2008-03-24§ionid=0205
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น