ความหวังไม่ง้อปุ๋ยแพง 'ไรโซแบคทีเรีย' 'เกษตรยั่งยืน' มีลุ้น
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 51
ความหวังไม่ง้อปุ๋ยแพง 'ไรโซแบคทีเรีย' 'เกษตรยั่งยืน' มีลุ้น
แม้เมืองไทยในยุคปัจจุบันจะมีการรณรงค์เรื่องเกษตรปลอดสารพิษ-เกษตรอินทรีย์กันมาก และยุคนี้ “ปุ๋ยเคมี” ก็ “ราคาแพง” แต่ในทางปฏิบัติการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อหวังจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็น-ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพมนุษย์ รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมสภาพและความเป็นประโยชน์ต่อพืช ที่ปลูกลดลง
เฉพาะหน้า...การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างระวังเป็นสิ่งที่จะต้องตระหนัก
ในอนาคต...ก็หวังกันว่าจะไม่ต้องใช้-ไม่ต้องกลัวพิษภัยนี้
ทั้งนี้ กับงานวิจัยของ รศ.ดร.กัญชลี เจติยานนท์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้รับทุนชุดโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า “การพัฒนา เกษตรยั่งยืน” จากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นี่ก็อาจเป็น “ทางเลือก” หนึ่งที่แพร่หลายในวันข้างหน้า ซึ่งทีมวิจัยชุดนี้ ได้ร่วมกันค้นคว้าวิจัยเพื่อแสวงหาวิธีการอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพื่อ “ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี”
แนวทางที่มีการวิจัยคือ การใช้จุลินทรีย์จำพวก “ไรโซแบคทีเรีย” ที่มีคุณสมบัติส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการศึกษาศักยภาพของการใช้จุลินทรีย์ดังกล่าวนี้ในการส่งเสริมให้พืชมีการเจริญเติบโต ทั้งในสภาพเรือนทดลอง และในสภาพแปลงปลูก ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
ในเบื้องต้นนั้น ยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อการใช้ของเกษตรกรทั่วไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางคณะนักวิจัยได้พัฒนาการนำเชื้อไรโซแบคทีเรียที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตรแบบยั่งยืน โดยนำมาพัฒนาให้เป็นสูตร และเป็นผลิตภัณฑ์
มีการพัฒนาเป็นสูตรที่มีส่วนผสมของเชื้อไรโซแบคทีเรียสำหรับ “เคลือบเมล็ดพันธุ์” และพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” ที่มีส่วนผสมของแบคทีเรียนี้ให้อยู่ในรูปเม็ด คล้ายเม็ดปุ๋ย ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมี โดยใช้ละลายน้ำและรดต้นพืชเหมือนกับปุ๋ยเคมี
งานวิจัยดังกล่าวนี้ เริ่มจากการแยกเชื้อไรโซแบคทีเรียจากดินรอบ รากพืช และทำการทดสอบเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริม การเจริญเติบโตของพืชต่าง ๆ
เช่น แตงกวา พริกชี้ฟ้า มะเขือเทศ ข้าวโพด ฯลฯ
แบคทีเรียที่ทีมวิจัยค้นพบนั้น ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และสามารถเก็บได้เป็นระยะเวลานาน จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาสูตร ตำรับที่มีส่วนผสมของเชื้อไรโซแบคทีเรียสำหรับเคลือบเมล็ดพืช ซึ่งเมื่อนำไปปลูกทดสอบในสภาพเรือนทดลองก็พบว่า แตงกวา และพริกชี้ฟ้า มีความ ยาวของรากที่ยาวกว่าเมล็ดที่ไม่ได้เคลือบด้วยไรโซแบคทีเรีย อีกทั้งพืชที่เคลือบเมล็ดด้วยไรโซแบคทีเรียยังมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่า
นี่ย่อมแสดงถึงประสิทธิภาพที่ดีที่ค้นพบ
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียให้อยู่ในรูปเม็ด ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ในสภาพพื้นที่จริง และได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในแปลงทดลองของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อทดสอบศักยภาพของผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียในการทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
จากการทดลองพบว่า แปลงแตงกวา และพริกชี้ฟ้า ที่ใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราครึ่งหนึ่ง ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรีย ให้ผลผลิตเทียบเท่ากับแปลงแตงกวา และพริกชี้ฟ้า ที่ใส่ปุ๋ยเคมีเต็มอัตรา
นี่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียใช้ได้ผล
ขั้นต่อไปคณะผู้วิจัยได้นำผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียไปทดสอบในแปลงเกษตรกรอาสาสมัคร ก็พบว่า แตงกวาที่ได้รับผลิตภัณฑ์ชีวภาพร่วมกับ ปุ๋ยเคมีในอัตราครึ่งหนึ่ง มีผลผลิตที่มากกว่าแตงกวาที่ได้รับปุ๋ยเคมีในอัตราปกติ ส่วนกับพริกชี้ฟ้า ข้อมูลผลผลิตพริกชี้ฟ้าที่กำลังเก็บเกี่ยวก็พบว่าผลผลิต พริกชี้ฟ้าจากแปลงที่ใส่ผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียร่วมกับการให้ปุ๋ยเคมีในอัตรา ครึ่งหนึ่ง ใกล้เคียงกับพริกชี้ฟ้าที่ได้รับปุ๋ยเคมีเต็มอัตรา
อีกทั้งคณะผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาเบื้องต้นกับ ข้าวพันธุ์ชัย นาท 1 และพบว่าการใช้เชื้อไรโซแบคทีเรียร่วมกับการให้ปุ๋ยเคมีในอัตราครึ่งหนึ่ง ข้าวก็มีการเจริญเติบโตใกล้เคียงกับที่ได้รับปุ๋ยเคมีในอัตราปกติ
แกนนำทีมวิจัยบอกว่า...การใช้ผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยของกระบวนการปลูกพืชผัก เกษตรกรจำเป็นต้องดูแลเอา ใจใส่พืชที่ปลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการให้น้ำที่เพียงพอ ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่พบในระหว่างฤดูการปลูกอย่างถูกวิธี ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว จึงจะได้ผลิตผลที่คุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม จากผลการทดสอบ-ผลการทดลองดังที่กล่าวมา ก็ถือว่าชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในการ “ลดปริมาณการใช้ ปุ๋ยเคมี” ซึ่งจะช่วยลดผลลบ ลดการเสื่อมสภาพของดิน
“ผลิตภัณฑ์ที่วิจัยนี้ ปัจจุบันได้รับเลขที่คำขออนุสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้วิจัยก็ยินดี ที่จะให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพดังกล่าวใช้เอง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่เราต้องการ”...รศ.ดร.กัญชลีกล่าว
ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังเพื่อ “ลดการใช้ปุ๋ยเคมี” ที่ราคาแพง
สร้างมิติ “เกษตรยั่งยืน” ให้กับเมืองไทย-เกษตรกรไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=54780&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น