เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 51
ตั๊กแตน โยงโย่ ผูกโบทัดดอกจำปา... เพลงของนักร้องลูกทุ่งหญิงอมตะ พุ่มพวง ดวงจันทร์..... “หลายชีวิต” สัปดาห์นี้เลยพามารู้จักกับ “ตั๊กแตน”
ตั๊กแตน...เป็นสัตว์จำพวกแมลง ซึ่งก็เหมือนกับสัตว์อื่นๆในโลกที่มีทั้งให้คุณและโทษ ที่มักสร้างความเสียหายให้กับมนุษย์ได้แก่ ตั๊กแตนกลุ่ม ปาทังก้า โลกัสต้า ไฮโรไกลฟัส มีขนาดตัวโตปานกลาง ความยาวตั้งแต่ 3-5 เซนติเมตรขึ้นไป ลำตัวมักจะมีสีเขียวอ่อน เขียว แก่ และน้ำตาลแดง พวกมันจะกัดกินและทำลายพืชไร่ โดยเฉพาะ ข้าว ข้าวโพด อ้อย ฟ่าง กล้วย ไปจนถึง ยอดมะพร้าว ฯลฯ
อีกทั้งสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วตามพืชที่เป็นอาหาร ในรอบ 1 ปีมันจะผสมพันธุ์และวางไข่ 3-4 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม
เมื่อเดือนตุลาคม 2006 เกษตรกรชาวมาเลเซีย ได้พบ ตั๊กแตน พันธุ์ใหม่ใกล้กับ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีสีสันสวยมาก แถมยังมีลำตัวยาวถึง 9 นิ้ว...สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวมาเลเซียเป็นอย่างมาก...
แต่.....หลังจากนั้นมันก็นำความซวยมหันต์มาสู่ ชาวไร่ชาวนา เพราะมันพากัน ยกโขยงนับล้านตัว ลงกัดกินพืชพันธุ์เสียหายครั้งมโหฬาร กระทั่งรัฐบาลมาเลเซียต้องระดมยาฆ่าแมลงมาฉีดพ่นกำจัดปราบอยู่เป็นนานจึงค่อยราบคาบ
ในบ้านเราก็มีแนวโน้มกับปัญหาคล้ายๆกัน นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เตือนให้ระวังตั๊กแตนในกลุ่มเดียวกันนี้เรียกว่า “ตั๊กแตนผี” ตอนนี้กำลังระบาดทำลายต้นไม้ของชาวสวนตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มีนาคม ในท้องที่อำเภอ ทุ่งตะโก หาดทรายรี จังหวัดชุมพร และอำเภอ บางสะพานใหญ่ บางสะพานน้อย จังหวัดประจวบ คีรีขันธ์...จึงขอให้เกษตรกรทำการสำรวจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ตัววัยอ่อนตั๊กแตนผีจะกินวัชพืชเป็นอาหารบริเวณผิวดิน เมื่อโตขึ้นเป็นวัยที่ 3 อายุประมาณ 20 วัน จะเริ่มขึ้นต้นไม้สูงๆและกัดกินเป็นอาหาร เช่น มะพร้าว สนทะเล สนปฏิพัทธ์ มะม่วง หิมพานต์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ
การป้องกันและกำจัดตั๊กแตนผี หากสำรวจพบตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกจากไข่ ซึ่งจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ใช้ทางมะพร้าวกองรวมบริเวณที่พบ แล้ว จุดไฟเผาเป็นการบูชายัญ
หรืออีกวิธี ใช้เหยื่อพิษ เอากระดาษหนังสือพิมพ์ ชุบสารเคมีฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริล โดยใช้กากน้ำตาลเป็นตัวล่อ ให้ตั๊กแตนตัวอ่อนมากิน
เกษตรกรที่มีปัญหาแก้ไขไม่ได้ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สำนักงาน เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด หรือ ศูนย์บริหารศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ใกล้บ้านท่าน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 มีนาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=83622