ขั้นตอนขอขึ้นทะเบียนสารเคมีสุดหิน ไม่ผ่านการประเมินเพียบ
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 51
ขั้นตอนขอขึ้นทะเบียนสารเคมีสุดหิน ไม่ผ่านการประเมินเพียบ
สารเคมีเกษตร ก่อนที่จะนำมาจำหน่ายในตลาดได้นั้น ไม่ใช่ว่าผลิตหรือนำเข้ามาแล้วจะจำหน่ายได้ทันที จำเป็นต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนสารเคมีก่อน เพื่อทดสอบความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่อง พิษที่มีต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบก็คือ กรมวิชาการเกษตร นั่นเอง
นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายกับกรมวิชาการเกษตรจำนวนมาก ซึ่งการที่สารเคมีแต่ละชนิดจะสามารถผ่านขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนได้ผู้ประกอบการจะต้องนำสารเคมีที่ขอขึ้นทะเบียนไปทำการวิจัยและทดสอบประสิทธิภาพของวัตถุอันตรายจำนวน 2 สถานที่หรือ 2 ฤดูกาล และสารเคมีต้องผ่านการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งการประเมินข้อมูลทางด้านพิษวิทยาทั้งพิษเฉียบพลันและพิษ เรื้อรัง ซึ่งต้องมีความปลอดภัยทั้งต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นข้อมูล การวิจัยทดสอบทั้งหมดดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการฯ ประเมินผลและพิจารณาก่อนที่จะให้มีการขึ้นทะเบียน
ดังนั้น...กรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ เสนอกระทรวงเกษตรฯเร่งรัดการขึ้นทะเบียนสารเคมีจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมีดังกล่าว โดยเฉพาะสารเคมีที่นำเข้าจากประเทศจีนจึงไม่เป็นความจริง
การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบต่าง ๆ หลายขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาและทดสอบจนแน่ใจว่าสารเคมีที่จะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนนั้นจะไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จนถึงขณะนี้มีผู้ยื่นข้อมูลพิษวิทยาให้ประเมินจำนวน 721 คำขอ ซึ่งคณะทำงานประเมินข้อมูลพิษวิทยาได้ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีประเมินข้อมูลทางด้านพิษวิทยาและพิษตกค้าง ผลปรากฏว่ามีสารเคมีที่ผ่านการประเมินทางพิษวิทยาเพียง 102 คำขอ โดยในส่วนของคำขอที่ไม่ผ่านการประเมินนั้นเนื่องจากขาดข้อมูลการศึกษาด้านการทดสอบความปลอดภัย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้ผู้ประกอบการนำส่งข้อมูลเอกสารเพิ่มเติมแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิชาการและเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
นอกจากนี้เมื่อผ่านขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายแล้ว หากผู้ประกอบการมีความประสงค์จะนำเข้าหรือผลิตสารเคมีจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรอีกขั้นตอนหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยก่อนที่จะอนุญาตให้มีการผลิตได้นั้นจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของโรงงานด้วยว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
กรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบการนำเข้าสารเคมีทุกชิปเม้นท์ ตรวจโรงงานที่ผลิต รวมทั้งร้านจำหน่ายสารเคมีเป็นระยะ หากพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายและพักใช้ใบอนุญาตทันที
“จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งออกที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลกและยังเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งมีการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมและกำกับดูแลการนำเข้าและการผลิตสารเคมี ตลอดจนการควบคุมฉลากเพื่อให้มีการใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการวิจัยและส่งเสริมให้เกษตรกรได้หันมาใช้สารจากธรรมชาติและการกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธีร่วมด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=54832&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น