เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 51
การเลี้ยง “กุ้งขาวแวนนาไม” กำลังนิยมอย่างมากในปัจจุบัน แต่เป็นในลักษณะตัวใคร ตัวมัน ไม่มีทิศทาง ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงตามมา และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นหนึ่งในหลายแห่งที่มีบ่อเลี้ยงกุ้งจำนวนมากด้วยเช่นกัน
หากขืนปล่อยทิ้งไว้คงอีกไม่นาน ภูมิประเทศแถบนี้จะกลายเป็นแหล่งปัญหา ยากแก้ไข นายเดชาบรรลือเดช ซึ่งยึดอาชีพเลี้ยงกุ้ง ตำบลไร่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงหันมาปรับวิธีการเลี้ยงใหม่ โดยใช้ “ระบบชีวภาพ” ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องบำบัด ถ่ายเทน้ำเสียออกจากบ่อเหมือนหลายๆแห่ง วิธีดังกล่าวนอกจากทำให้ ต้นทุนสูง ยังทำลาย ระบบนิเวศน์บริเวณรอบๆบ่อเลี้ยง และอาจคลุมรัศมีวงกว้าง
นายเดชา บอกว่า การเลี้ยงกุ้งให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ สิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็คือ “รักษาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งปัจจุบัน ตลาดต่างประเทศนำมาเป็นข้อพิจารณาในการรับซื้อผลผลิต ฉะนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหา เกษตรกรต้องดำเนินทิศทางการจัดการตามเกณฑ์หน่วยงานภาครัฐกำหนด โดยนำระบบ การรับรองทะเบียนฟาร์ม GAP มาใช้วางรากฐาน
นอกจากการปล่อยปริมาณลูกกุ้งที่ไม่แน่นมาก การดูแล สภาพน้ำไม่ให้น้ำเสียอันเป็นปัจจัยหลัก สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่แนววิธีเลี้ยง การให้อาหารในปริมาณพอเหมาะ ก่อน เกษตรกร เข้าใจผิดว่าให้จำนวนมากกุ้งจะโตเร็ว แต่จริงแล้วไม่ใช่ กลับทำให้น้ำเสียง่าย เพราะกุ้งระยะเติบโตต้องการอาหารโปรตีนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่เหมือนตอนเล็กจะกินมาก
สำหรับการควบคุมระบบน้ำ นอกจากเติมออกซิเจนด้วยการใช้เครื่องตี แสงแดด ยัง ใช้จุลินทรีย์ “ไบซีรัส” มาทำหน้าที่ย่อยสลายของเสียซึ่งไม่เป็นอันตรายกับกุ้ง โดยจุลินทรีย์ดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้บำบัดน้ำเสียทั่วไป
หลักการใช้ก็คือ หลังจากลากกุ้ง (จับ) เอาจุลินทรีย์ “ไบซีรัส” ใส่ในปริมาณพอเหมาะ หมั่นตรวจค่า ph น้ำให้มีความเหมาะสม จากนั้นจะใส่ 7-15 วันต่อครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเลี้ยงทั้งความเค็มของน้ำ ที่ต้องมีการตรวจเช็กเป็นระยะ ทุกๆ 7 วัน ถ้าพบว่าบ่อไหนมีปัญหาหนักจะแจ้งนักวิชาการให้เข้าไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุ
เมื่อควบคุมดูแลคุณภาพน้ำให้นิ่ง เวลาจับกุ้งจึงวนน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก โดยไม่ต้องปล่อยทิ้งให้เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่หากจำเป็นต้องเอาน้ำออก ควรมีบ่อพักไว้เก็บเพื่อย้อนกลับมาใช้ใหม่ได้
การเลี้ยงระบบชีวภาพที่นอกจากจะไม่ทำลายระบบนิเวศรอบๆ เรายังสามารถ กำหนดราคาซื้อขายที่แตกต่างจากบ่อทั่วไป กก.ละ 2-5 บาท
และที่สำคัญยังสามารถส่งขายตลาดต่างประเทศ ที่ปัจจุบันหนึ่งในเกณฑ์ส่งออก จะพิจารณาจากพื้นที่ ขบวนการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 26 มีนาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=83743