เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 51
นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า แนวทางการดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาศูนย์ต้นแบบการจัดการวัตถุดิบ และพัฒนาการผลิตพลังงานทดแทนแบบครบวงจร โดยนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ได้จัดเตรียมต้นกล้าปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 ตั้งแต่ปี 2549 จำนวน 800,000 ต้น ที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย โดยแจกจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และพื้นที่ปลูกผ่านการประเมินความเหมาะสมแล้ว นำไปปลูกจำนวน 22-25 ต้นต่อไร่ และต้องชำระค่าต้นกล้าคืนในต้นปีที่ 4 โดยใช้ทะลายปาล์มสดคิดตามราคาผลผลิตต้นละ 50 บาท
“จากการดำเนินการที่ผ่านมา เกษตรกรจังหวัดหนองคายได้นำต้นกล้าจำนวน 37,454 ต้นไปปลูกแล้วในพื้นที่ 1,502 ไร่ และในขณะนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการสำรวจดินแล้ว จำนวน 500 รายพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งพร้อมจะนำต้นกล้าจำนวน 200,000 ต้น ไปปลูกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2551 โดยจะดำเนินการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดหนองคายและ อุบลราชธานีอีกกว่า 30,000 ไร่ รวมพื้นที่เป้าหมายปลูกในปี 2551 ประมาณ 50,000 ไร่” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
นางเมทนี เผยอีกว่า ในการดำเนินการของโครงการนี้ ปัจจัยที่สำคัญคือระบบตลาด ซึ่งกรมได้เชิญหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานในพื้นที่ จังหวัดหนองคายและอุบลฯ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเกษตรกรเข้าร่วมประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินการซึ่งได้กำหนดแนวทางการ จัดตั้งโรงงานขึ้น 3 กลุ่มโรงงาน คือ โรงงานสกัดขนาดเล็ก (ไม่เกิน 5 ตันชั่วโมง) โรงงานวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและโรงงานเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งได้ประสานงานให้ใช้เทคโนโลยีการผลิตพลังงานแบบสะอาด (Clean Development Management : CDM) เพื่อนำไปสู่การคำนวณคาร์บอนเครดิตในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 มีนาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=83869