เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 51
นายจิตรกร สามประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของประเทศ ผลผลิตมีความพิเศษในเรื่องความนุ่มและความหอม เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรม การข้าว และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ เชื่อมโยงตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตรวจสอบรับรองมาตรฐาน และการจัดการธุรกิจการตลาดข้าวหอมมะลิ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2551 เป้าหมายพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 1.27 ล้านไร่ ให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเป็น 470 กก.ต่อไร่ หลังสิ้นสุดโครงการ เกษตรกร 85,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น 19,680 บาท/ครัวเรือน และเพิ่มมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิ ปีละ 2,367.72 ล้านบาท
ที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการ ฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการผลิตข้าวหอมมะลิดีที่เหมาะสม (GAP) ให้กับผู้นำเกษตรกร และผู้นำสหกรณ์ จำนวนกว่า 7,500 ราย เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิที่ถูกต้องทั้งระบบ โดยกรมฯ ตั้งเป้าว่าความรู้เรื่อง GAP ที่จัดทำขึ้นน่าจะทำให้ข้าวเปลือกมีคุณภาพดีขึ้น และจะทำให้ผลผลิตเฉลี่ยข้าวหอมมะลิของเกษตรกรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 และข้าวทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสู่โรงสีข้าวของสหกรณ์ปรับปรุงคุณภาพที่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เพื่อแปรรูปตรวจสอบคุณภาพ และบรรจุเป็นแบรนด์สินค้าเดียวกันก่อนส่งจำหน่ายยังตลาดต่อไป ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยควบคุมคุณภาพข้าวหอมมะลิในโครงการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว ยังจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการปลอมปนที่เกิดขึ้นอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 มีนาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=158911&NewsType=1&Template=1