เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 51
ช่วงนี้มีการพูดถึงราคา "ข้าว" ซึ่งพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะแต่ข้าวเท่านั้น อาหารการกินต่างๆ ก็มีราคาสูงตามไปด้วย เป็นยุคของข้าวยากหมากแพงอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาที่เรารู้กันอยู่ คือ น้ำมันแพง เพราะว่าน้ำมันกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของทุกกระบวนการ
ดังนั้นหากเรายังต้องพึ่งพาน้ำมันเป็นหลักอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ แน่นอนว่าสินค้าทุกอย่างก็ต้องมีต้นทุนการผลิตแพงตามไปด้วย เรื่องของข้าวนั้น เกี่ยวข้องกับน้ำมันตรงที่ปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย และยาต่างๆ รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร ล้วนแล้วแต่พึ่งพาน้ำมันทั้งนั้น แต่ว่าการที่ราคาข้าวพุ่งขึ้นมาสูงแบบวันนี้ มีสาเหตุอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะลองมองดูเพื่อจะได้เข้าใจและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ
เมื่อไม่นานมานี้ทางอเมริกาเกิดวิกฤติพลังงาน และต้องการเพิ่มปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง จึงต้องนำข้าวโพด ซึ่งปกติใช้ในการเลี้ยงสัตว์ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์แทน ผลคือ "ข้าวโพด" ขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้น ผลพวงที่ตามมาคือ "อาหารสัตว์" มีราคาสูงขึ้นและต้องการวัตถุดิบอย่างมากเพื่อมาทดแทน
ผลกระทบข้อนี้ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในตลาดโลกสูงขึ้น และไทยก็ได้รับผลอันนี้เช่นเดียวกัน จนกระทั่งชาวไร่ข้าวโพดร่ำรวยไปตามๆ กัน ในขณะเดียวกันปลายข้าวก็เริ่มถูกเอามาใช้แทนข้าวโพดในอาหารสัตว์ จึงเกิดความต้องการข้าวมากขึ้น และยิ่งเวียดนามเจอปัญหาการผลิตข้าวทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย และสต็อกข้าวของหลายประเทศเริ่มลดลง รวมทั้งมีการประกาศหยุดส่งออกข้าวของบางประเทศ ผลคือ ความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยังเท่าเดิม
ดังนั้นจึงแน่นอนว่า ราคาย่อมแพงขึ้นตามลำดับ ดูแล้วก็เหมือนกับกรณีของน้ำมัน ซึ่งถูกควบคุมราคาโดยกลุ่มผู้ผลิต ซึ่งจัดการกับจำนวนการผลิตและความต้องการของตลาดโลก ทำให้ราคาอยู่ในมือของกลุ่มคนเหล่านั้น เพียงแต่ว่าเรื่องของข้าวยังไม่ได้ถูกคุมราคาเบ็ดเสร็จแบบนั้น แต่ก็ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งชาติที่ผลิตข้าวส่งออก อาจมีกำลังต่อรองสูงมากขึ้นก็ได้
ลองมาดูสถานการณ์ข้าวไทยกันบาง เราก็ยังผลิตกันแบบเดิม ได้ปริมาณใกล้เคียงกับของเดิม แต่ว่าราคากลับเพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ส่งผลให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น และแน่นอนว่าผู้บริโภคก็ต้องซื้อข้าวแพงขึ้นแน่นอน แต่ถามว่าเราควรทำใจยอมรับสถานการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่และเหตุการณ์ข้าวแพงจะคงอยู่นานหรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์อย่างเช่น รศ.สมพร อิศวิลานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำนายสถานการณ์ข้าวแพงไว้ว่า คงไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ระยะสั้นอีกต่อไป เพราะว่าความต้องการเชื้อเพลิงมีมาก จึงเกิดการแย่งพื้นที่ปลูกพืชพลังงานทดแทนเหล่านั้นมากขึ้น พื้นที่ข้าวก็จะลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันเป็นตัวส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น จึงต้องขายข้าวแพงขึ้น กลายเป็นยุคที่ชาวนาเริ่มลืมตาอ้าปากได้ หลังจากที่ต้องทนทุกข์มานาน ซึ่งภาวะเช่นนี้ทำให้ชาวนามีกำลังใจในการผลิตข้าวต่อไป หากเมื่อใดก็ตามที่ชาวนาไม่มีแรงจูงใจให้ผลิตข้าวแล้ว อีกไม่นานสถานการณ์ของประเทศไทยก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นประเทศที่ไม่มีใครอยากปลูกข้าว
ในที่สุดก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องสั่งซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามากินด้วยราคาที่แพงกว่านี้ ซึ่งเรื่องนี้มีโอกาสเป็นไปได้ ไว้โอกาสหน้าผมจะลองวิเคราะห์ให้ดู ดังนั้นช่วงนี้เราในฐานะผู้บริโภคที่ต้องใช้น้ำมันราคาแพง โดยไม่มีทางเลือก หากต้องรับภาระเพิ่มเรื่องราคาข้าวขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง เพื่อให้ชาวนาเพื่อนร่วมประเทศได้มีรายได้ดีขึ้นอีกเล็กน้อย
น่าจะกัดฟันยอมรับและช่วยกันบริโภคข้าวในประเทศมากกว่า "ข้าวสาลี" ของเมืองนอก ซึ่งจะแพงเท่าใดก็ไม่เห็นมีใครบ่นสักคำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 31 มีนาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/03/31/x_agi_b001_196359.php?news_id=196359