เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 51
ปัจจุบันมีการปลูกมัลเบอรี่เพื่อเก็บผลมาบริโภคแบบสดๆหรือทำเป็นไวน์และน้ำดื่ม เพื่อสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย...เนื่องจากในผลของมัลเบอรี่ประกอบด้วย แคโรทีน วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี น้ำตาลกลูโคส กรดทาร์ทาริก และกรดซัคซินิค
วงการแพทย์จีนโบราณ ถือว่า มัลเบอรี่ เป็นยาเย็น ใช้ บำรุงกำลัง บำรุงประสาท แก้อาการนอนไม่หลับ เป็นยาระบาย แก้ธาตุไม่ปกติ และ เมล็ด ยังช่วยเพิ่มกากอาหาร
ประเทศไทยนิยมปลูกมัลเบอรี่ สายพันธุ์บุรีรัมย์ 60 กับ สายพันธุ์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่ผสมกับสายพันธุ์ต่างประเทศโดย นายณรงค์ชัย พิพัฒน์วงศ์ นักวิจัยด้านพันธุ์พืช จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เผยว่า นักวิจัย มก. ได้ร่วมมือกับฝ่ายไม้ผล โครงการหลวงทำการ วิจัยและพัฒนาการผลิตไม้ผล เพื่อส่งเสริมปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขาและ ชนเผ่าต่างๆบนพื้นที่สูง ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ฯลฯ
โดยได้รับต้นมัลเบอรี่สายพันธุ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามารวบรวมพันธุ์ไว้ ได้แก่ พันธุ์ Back mulberry (Morus migra L.), King white (Morus micoura Mig.) และ Dwarf red shahtoot (Morus micoura MIG.) เป็นต้น
นักวิจัยด้านพันธุ์พืช กล่าวอีกว่า การทดลอง วิจัยสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อ การค้าและเหมาะสมกับความต้องการของตลาด จึงเกิดขึ้น โดยมีการบังคับให้ มัลเบอรี่ออกผลผลิตนอกฤดู แบบวิธีธรรมชาติ เช่น เด็ดยอด ลิดใบทิ้งและโน้มกิ่ง โค้งยอดเข้าหาพื้นดิน เป็นการบังคับทรงพุ่มแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตทางลำต้นราว 6 เดือนกว่า หลังจากนั้นพบว่ามีการแตกตาข้างออกมา พร้อมกับแทงช่อดอกที่บริเวณตาที่แตกออกมาใหม่ ทำให้ต้นมัลเบอรี่ 1 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 400-500 ผลหรือประมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่
ในส่วนการวิจัย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลมัลเบอรี่สดสายพันธุ์เชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มสุกจนกระทั่งสุกจัด พบว่าผลสุกที่ติดกิ่งแขนงตำแหน่งต่างๆกัน มีคุณภาพใกล้เคียงกัน เมื่อออก ดอกในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลจะเริ่มสุกหลังจากดอกบาน 20 วันและเริ่มสุกจัด ในเวลา 12 วัน ส่วนผล มัลเบอรี่ที่ออกนอกฤดู ในช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม พบว่า เมื่อเด็ดใบทิ้งแล้ว โน้มกิ่งเป็นเวลา 8-12 วัน ดอกจึงเริ่มบานใน 42 วัน
อีกทั้งการทดสอบระหว่างที่ผลสุก พบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพ โดยปริมาณของแข็ง ทั้งหมดละลายน้ำได้ และยังมี น้ำตาลรีดิวซ์เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของกรดมีแนวโน้มลดลง ช่วงเก็บเกี่ยวผลสุกจัดยังมีคุณภาพทางกายภาพเคมี
ทำให้สามารถเปิบผลสด...ได้รสชาติที่ดีและมีคุณค่าสารอาหารสูง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 31 มีนาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=84343