เลี้ยงกวาง อีกทางเลือกของอาชีพที่ทำรายได้
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 51
เลี้ยงกวาง อีกทางเลือกของอาชีพที่ทำรายได้
ในปี พ.ศ. 2538 สหกรณ์กวางแห่งประเทศไทยนำเข้ากวาง พันธุ์รูซ่า จำนวนกว่า 1,500 ตัว ให้กับเกษตรกรสมาชิก 240 รายเลี้ยง แต่ปัจจุบันเราสามารถเลี้ยงกวางไทยเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้แล้ว เนื่องจากกวางไทยมีขนาดใหญ่ให้ผลผลิตเขา เนื้อ และหนังมากกว่ากวางรูซ่า
การเลี้ยงกวางต้องใช้ต้นทุนสูงผลการเลี้ยงจะคืนทุนเมื่อเข้าสู่ปีที่ 5-6 ดังนั้น จึงต้องมีเงินลงทุนระยะยาว แต่อาจสามารถลดต้นทุนลงได้โดยใช้กวางที่เกิดในประเทศเป็นแม่พันธุ์ ใช้วัสดุพื้นบ้านในการกั้นคอก และจัดหาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเลี้ยงกวาง นอกจากนี้ต้องมั่นใจว่าจะมีตลาดรองรับที่สามารถขายลูกกวางได้ดี หรือจำหน่ายเป็นเนื้อกวางชำแหละ แต่โดยทั่วไปเกษตรกรจะจำหน่าย ลูกกวางรูซ่าเพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อตัวละ 15,000-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด อายุ และความสมบูรณ์พันธุ์ การจำหน่ายเขากวางอ่อนอบแห้ง ราคาส่ง กก.ละ 8,000-10,000 บาท
การทำฟาร์มกวางในประเทศไทย มีข้อจำกัดในการห้ามเลี้ยงกวางป่า เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติให้ทำการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าได้ โดยต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ เพื่อป้องกันการลักลอบจับสัตว์ป่าเพื่อการซื้อขาย พันธุ์กวางที่เลี้ยงทั่วไป ได้แก่ กวางป่า หรือกวางม้า เนื้อทราย กวางดาว กวางรูซ่า กวางซีก้า กวางฟอลโล และ กวางแดง แต่การทำฟาร์มเลี้ยงกวาง โดยผลิตเขากวางอ่อน เนื้อกวาง และผลิตภัณฑ์จากหนังกวาง สามารถกระทำได้โดยเฉพาะกวางพันธุ์รูซ่า ซึ่งนำมาเลี้ยงขยายพันธุ์ให้ลูกกวางได้ตลอดทั้งปี ลูกกวางมีอัตราการเจริญเติบโตและมีอัตราการเลี้ยงรอดสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ขณะที่กวางแดงและกวางฟอลโลซึ่งเป็นกวางพันธุ์จากยุโรปมีฤดูกาลผสมพันธุ์มีอัตราการเกิดลูกต่ำ โดยเฉพาะกวางฟอลโลมีอัตราการตายแรกเกิดสูง และอัตราการเลี้ยงลูกรอดต่ำ นอกจากนี้ยังมีกวางซีก้าที่นิยมเลี้ยงเพื่อผลิตเขากวางอ่อน
ดร.ชัยณรงค์ คันธพนิต แห่งมหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้แนวคิดการเลี้ยงกวางในคอกเนื่องจากเกษตรกรมีพื้นที่น้อย มีทุนน้อย โดยมีกวางเพียง 3-5 ตัว ก็สามารถเลี้ยงได้เช่นกัน โดยขนาดของคอกที่จะเลี้ยงกวางมีขนาดตั้งแต่ 3x5 เมตร หรือหากมีพื้นที่มากกว่านี้อาจเป็น 5x10 เมตรก็ได้ โดยมีหลังคาและมีที่สำหรับใส่หญ้าและน้ำให้กวางกิน
สำหรับหญ้าซึ่งเป็นอาหารของกวาง อาจารย์ชัยณรงค์แนะว่า ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปลูกเองเพราะปลูกหญ้าเองทำให้รู้อายุการตัด รู้คุณค่าทางโภชนาการของหญ้า คือถ้าไปตัดหญ้าที่ขึ้นตามธรรมชาติส่วนมากเป็นหญ้าแก่ ไฟเบอร์สูง ประสิทธิภาพการย่อยของกวางจะลดลง ถ้าปลูกหญ้าเอง บำรุงรักษาอย่างดีจะทำให้รู้ระยะเวลาการตัดที่เหมาะสมซึ่งจะมีประโยชน์กับตัวกวางมาก
ในการเลี้ยงกวาง 1 คอก อาจมีตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 4 ตัว พออายุครบ 2 ปี ก็สามารถตัดเขากวางอ่อนได้ ส่วนตัวเมียเมื่อตกลูกมาจะแยกเลี้ยงให้โตขึ้น 1 ปี ก็สามารถขายเป็นพันธุ์กวางได้
ผู้อยากเลี้ยงกวางติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเรื่องการเลี้ยงหรือพันธุ์กวางได้ที่ กลุ่มงานเล็ก กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และ สหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=159292&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น