เมื่อวันที่ 8 เมษายน 51
ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ผลที่ตามมาคือแร่ธาตุต่างๆที่เคยมีอยู่ เริ่มลดน้อยถอยลง ดินเสื่อมสภาพและปัญหาต่างๆตามมาเป็นลูกโซ่.... จากเหตุปัจจัยดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.กัญชลี เจติยานนท์ และคณะผู้วิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงร่วมกันค้นคว้า “พัฒนาเชื้อไรโซแบคทีเรีย” ปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ เคลือบเมล็ดพันธุ์ และ พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปเม็ด สำหรับ ใช้ละลายน้ำ และ รดต้นพืชเหมือนกับปุ๋ยเคมี โดยได้รับทุนอุด หนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
รองศาสตราจารย์ ดร.กัญชลี บอกว่า งานวิจัยนี้เริ่มจากการแยก “เชื้อไรโซแบคที-เรีย” จากดินรอบรากพืชเพื่อนำมาทำการทดสอบคัดเลือกเฉพาะสายพันธุ์ที่มีศักยภาพต่อการ เจริญเติบโตของพืชต่างๆ เช่น แตงกวา พริกชี้ฟ้า มะเขือเทศ และข้าวโพด ซึ่งแบคทีเรียที่ค้นพบมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สามารถเก็บ ได้เป็นระยะเวลานาน
จากนั้นจึงพัฒนาสูตรใช้สำหรับ เคลือบเมล็ดแตงกวา กับพริกชี้ฟ้า พร้อมนำไปปลูก ในแปลงทดสอบในสภาพเรือนทดลองของคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยแปลงที่ 1. จะใส่เชื้อไรโซแบคทีเรียทดแทนการใส่ปุ๋ยเคมีช่วงระยะหนึ่ง จากนั้นจึงใส่ ปุ๋ยเคมีในอัตราครึ่งหนึ่ง ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรีย
แปลงที่ 2. ใส่ปุ๋ย เคมีเต็มอัตรา และเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำ ทีมวิจัยยังนำผลิตภัณฑ์ฯ ไป ทดสอบในแปลงเกษตรกรอาสาสมัคร เป็นแปลงที่ 3 ในการเก็บเกี่ยว ผลผลิตทั้ง 3 แหล่งนั้น พบว่า แปลง แตงกวาที่ได้รับผลิตภัณฑ์ชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี ในอัตราครึ่งหนึ่ง มีผลผลิตที่มากกว่าแตงกวาที่ได้รับปุ๋ยเคมีในอัตราปกติ ส่วน แปลงทดลองพริกชี้ฟ้า พบว่า แปลงที่ใส่ผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียร่วมกับ การให้ปุ๋ยในอัตราครึ่งหนึ่งให้ผลิตผลใกล้เคียงกับแปลงที่ได้รับปุ๋ยเคมีเต็มอัตราเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังนำไปทดลองใช้ในแปลง ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ได้ ผลออกมาว่า การใช้เชื้อ ไรโซแบคทีเรียร่วมกับการให้ปุ๋ยเคมีในอัตราครึ่งหนึ่ง ทำให้ข้าวมีการ เจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกับข้าวที่ได้ รับปุ๋ยเคมีในอัตราปกติ พร้อมกันนี้ ทีมยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ไรโซแบคทีเรียให้อยู่ในรูปเม็ดเพื่อให้ เกษตรกรสามารถนำ ไปใช้ได้ในสภาพพื้นที่จริง
ผลการทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ชีวภาพช่วยทำให้เกษตรกรสามารถ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีกับพืช อันเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาความเสื่อมสภาพ ของดิน ลงได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ผลิตภัณฑ์ไรโซแบค-ทีเรียนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยของกระบวน-การปลูกพืชผักเท่านั้น เกษตรกรยังคงต้องดูแลเอาใจใส่พืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม ให้น้ำอย่างเพียงพอ มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่พบในระหว่างฤดู ตั้งแต่เริ่มปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี จึงทำให้ได้ผลิตผลที่คุ้มค่า
และ...ทีมวิจัยยังบอกอีกว่า การนำผลิตภัณฑ์ ไรโซแบคทีเรียมาใช้แทนปุ๋ย นับเป็นอีกขั้นหนึ่งของการวิจัย แบบมุ่งเป้าในการ “พัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน” ซึ่งเกษตรกรรายใดสนใจขบวนการ ขั้นตอนการผลิตที่ลงลึกติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2278-8249 ทุกวันในเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 7 เมษายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=85180