เมื่อวันที่ 8 เมษายน 51
ขวดน้ำพลาสติกที่ดื่มน้ำหมดแล้ว ใช่มีประโยชน์แค่แยกเป็นวัสดุขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงบ้านเหมือนกับที่หลายๆ คนทำกันอยู่ แต่สำหรับสองสามีภรรยา "สมศักดิ์-นงลักษณ์ สาริสิทธิ์"
แห่ง ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ไม่ได้คิดแค่นั้น เมื่อมองว่าสามารถทำใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก ด้วยการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดัดแปลงเป็น "เครื่องมือดักกุ้งฝอย" วิธีง่ายๆ ที่ปัจจุบันสร้างรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน
สมศักดิ์เล่าให้ฟังว่า เคยทำงานอยู่โรงงานปูนซีเมนต์แห่งหนึ่ง แต่ลาออกมา 5-6 ปีแล้ว เพราะสุขภาพร่างกายขณะนั้นไม่แข็งแรง แรกๆ ไม่รู้จะทำอาชีพอะไรบวกกับอายุมากขึ้น กระทั่งสังเกตเห็นขวดน้ำพลาสติกที่ดื่มกันแล้วนำมาทิ้งในถังขยะจำนวนมาก จึงเก็บนำมาดัดแปลงให้เหมือน "ด้วง" ที่ดักสัตว์ ด้วยการตัดก้นขวดออกแล้วนำมุ้งเขียวเย็บเป็นถุงหุ้มขวดไว้ โดยให้ยาวกว่าขวดเล็กน้อย จากนั้นใช้ไม้ไผ่ยาวเหลาให้แหลมทำเป็นด้าม และใช้ลวดผูกติดกับขวดน้ำที่เตรียมไว้เท่านี้ก็เรียบร้อย
สมศักดิ์เล่าต่อว่า ทำเครื่องดักกุ้งฝอยทั้งหมด 250 อัน ลงทุนไม่ถึง 1,000 บาท เพียงซื้อมุ้งเขียวอย่างเดียว ก่อนนำไปปักชายตลิ่งบริเวณริมคลองชลประทานบ้านหมี่-ลพบุรี โดยใช้รำข้าวผสมข้าวสุกปั้นให้เป็นลูกกลมๆ ใส่ในขวดเป็นเหยื่อล่อให้กุ้งฝอยลงไปกินรำข้าว ซึ่งมีมุ้งเขียวหุ้มอยู่ และจะทำให้เหล่ากุ้งหาทางออกไม่ได้และติดอยู่ในนั้น กระทั่งถึงเวลากู้ก่อนนำออกจำหน่าย แต่ละวันจะดักกุ้ง 2 ครั้ง คือช่วงเวลา 15.00 น. กู้เวลา 18.00 น. และดักอีกครั้งเวล่ 19.00 น.แล้วกู้ตอนเช้า
"เราจะขายกันริมคลองเลยให้ผู้ผ่านไปมาบริเวณนั้น ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท หรือจะซื้อครึ่งกิโลกรัม เป็นขีดก็ได้ ขีดละ 10 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะนำไปชุบแป้งทอด หรือนำไปพล่าทำกุ้งเต้น ขายหมดเกลี้ยง เพราะเฉลี่ยแล้ววันหนึ่งจะดักได้ 4-5 กิโลกรัมเท่านั้น แถมบางวันมีลูกค้าสั่งจองด้วย แต่ก็ทำให้ไม่ได้" นงลักษณ์ กล่าวเสริม และยอมรับว่าอาชีพนี้ทำเงินได้ดีทีเดียว เดือนหนึ่งเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งถึงขณะนี้เธอและสามีทำมา 4 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม สองสามีภรรยาต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การยึดอาชีพดักกุ้งฝอยขายไม่ได้เหน็ดเหนื่อยอะไรมาก โดยจะมีรถสามล้อแดงหรือซาเล้งติดเครื่องยนต์เป็นพาหนะสำหรับใช้ขนอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากบ้าน ก่อนมุ่งสู่เป้าหมายคือริมตลิ่งแนวคลองชลประทาน ซึ่งบางวันก็จะขึ้นไปทางเหนือ บางวันก็ล่องตามน้ำ แต่จะไปไม่ไกลในรัศมีเพียง 5-10 กิโลเมตร โดยจะสลับการวางเครื่องมือดักกุ้งทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ซึ่งกุ้งจะติดดีมากช่วงฤดูน้ำหลาก และย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ช่วงนั้นสามารถดักได้ถึง 7-8 กิโลกรัม
ใครที่ผ่านไปแถวๆ คลองชลประทานบ้านหมี่-ลพบุรี เห็นสองสามีภรรยาขับรถสามล้อแดงหรือซาเล้งลัดเลาะไปตามคลองพร้อมกับเครื่องมือดักกุ้งฝอยที่ดัดแปลงมาจากขวดน้ำดื่ม ให้สันนิษฐานว่าเป็นสมศักดิ์-นงลักษณ์ ซึ่งทั้งคู่ต่างบอกอาจมีกุ้งฝอยตัวใหญ่ๆ ไว้ให้บริการ แต่หากจะให้ชัวร์สามีเสริมว่าต้องเป็นช่วงเช้าก่อนแปดโมง ซึ่งเป็นช่วงกู้ครั้งแรกของแต่ละวันจะดีที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 เมษายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/04/08/x_agi_b001_197522.php?news_id=197522